[เลอค่า] งาช้างดำ ประวัติงาช้างดำ ครุฑแบกงาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน

Black-tuskงาช้างดำ เป็นของโบราณเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองน่าน และมีเพียงอันเดียวในโลก จัดแสดงที่หอคำ (พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.น่าน) ลักษณะเป็นงาช้าง 1 ข้าง มีสีออกน้ำตาล (ไม่ได้มีสีดำอย่างที่คิดเอาไว้) และมีครุฑตัวสีน้ำเงินปีกทองแบกงาช้างดำอันนี้ไว้ โดยครุฑแบกงาช้างดำอันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเมืองน่าน ดังนี้

1. งาช้างดำ ไม่สามารถระบุที่มาแน่ชัด มีเพียงตำนานงาช้างดำ ที่เล่าสืบต่อกัน 2 เรื่องได้แก่
ตำนานที่ 1 : กล่าวว่าในสมัยเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ (ครองเมือง พ.ศ. 2353-2368) มีพรานคนเมืองน่านเข้าป่าล่าสัตว์ไปถึงเขตแดนระหว่างไทยกับเชียงตุง ได้พบซากช้างตัวดำสนิทตายอยู่ในห้วย พอดีกับพรานชาวเชียงตุงมาพบด้วย พรานทั้งสองจึงแบ่งงาช้างดำคนละกิ่ง ต่างคนต่างก็นำมาถวายเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองเชียงตุงได้ส่งสาส์น มาทูลเจ้าสุมนเทวราชว่า ตราบใดที่งาช้างดำคู่นี้ไม่สูญหาย เมืองน่านกับเมืองเชียงตุงจะเป็นมิตรไมตรีกันตลอดไป

ตำนานที่ 2 : กล่าวว่า กองทัพเมืองน่านยกทัพไปล้อมเมืองเชียงตุงหลายเดือน ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงเดือดร้อน โหรเมืองเชียงตุงทูลเจ้าเมืองว่า เป็นเพราะมีงาช้างดำอยู่ด้วยกัน ทางที่ดีควรแยกกันอยู่ จึงได้นำงาช้างดำกิ่งหนึ่งมอบให้กองทัพเมืองน่าน แล้วกระทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดกาล

จากข้อมูลของนักวิชาการ ที่ศึกษางาช้างดำกิ่งนี้ พบว่าเป็นงาช้างตันที่ถูกดึงมาทั้งยวงจากตัวช้าง งาช้างมีอายุหลายร้อยปี ส่วนตัวช้างเจ้าของงาน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ 60 ปี นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นงาข้างซ้าย เพราะดูจากลักษณะการเสียดสีของ ปลายงา” รูปลักษณะของงาเป็นงาปลี วัดโดยรอบตรงโคนโต 47 เซนติเมตร ยาว 94 เซนติเมตร น้ำหนัก 18 กิโลกรัม สีน้ำตาลไหม้เกือบเป็นสีดำ ข้างในกลวงตอนโคนลึกเพียง 14 เซนติเมตร

2. ตัวครุฑที่ทำแบกรับงาช้างดำ ทำจากไม้สักทั้งท่อน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 ช่วงนั้นมีข่าวว่าเจ้าเมืองทางเหนือบางเมืองแข็งข้อก่อการกบฏ เจ้าเมืองน่านจึงให้ทำครุฑ ขึ้นมาแบกงาช้างดำวัตถุคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า นครน่านในยุคนั้น ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ซึ่งใช้ตราครุฑเป็นตราแผ่นดิน แทนองค์พระมหากษัตริย์) อยู่ไม่เสื่อมคลาย

ความสำคัญของงาช้างดำต่อเมืองน่าน
1. เชื่่อกันว่า พญาการเมืองเจ้าเมืองพลั่วหรือปัว องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์ภูคา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ได้ทำพิธีสาปแช่งเอาไว้ ให้งาช้างดำนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป ผู้ใดจะนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวมิได้ ต้องไว้ที่ หอคำ หรือ วังเจ้าผู้ครองนครน่านเท่านั้น
2. เป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน และถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจังหวัดน่าน
3. เป็นวัตถุโบราณที่หายากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 14 หรือองค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2474 เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ต่อมากรมศิลป์ได้รับมอบให้นำมาจัดแสดงในอาคารหอคำหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2525 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน จะมีงาช้างดำ จังหวัดน่าน เป็นไฮไลค์สำคัญแล้ว ยังมีการจัดแสดงสิ่งของโบราณต่างๆ มากมาย หากท่านที่มีเวลาแวะเข้ามาเที่ยวที่น่าน ต้องไม่พลาดที่จะตีตั๋วเข้าชมของล้ำค่าต่างๆ เหล่านี้ครับ

การเดินทางมาชมงาช้างดำ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน
จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 เข้าสู่อำเภอเมือง จังหวัดน่าน จนถึงสี่แยกวัดศรีพันต้น เลี้ยวขวาตรงสี่แยกไฟแดง ผ่านถนนสุริยพงษ์ จนถึงสี่แยกไฟแดงข่วงเมืองน่าน (ขวามือเป็นวัดภูมินทร์) ให้เลี้ยวซ้ายมือที่ถนนผากอง ก็จะเจอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน อยู่ตรงข้ามวัดพระธาตุช้างค้ำ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ที่ ถ.ผากอง ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เปิด 08.30-16.30 น. ทุกวัน ค่าธรรมเนียมชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท [เพื่อความแน่ใจ โทรสอบถามที่ 0-5471-0561,0-5477-2777]

เรียบเรียงจาก
1. http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9500000147210
2. http://www.lannatouring.com/Nan/Interesting-article/Nan-NationalMuseum.htm



Leave a Comment