วิธีการประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) และประเมินจากแฟ้มสะสมงานนักเรียน (Portfolio)

A: การประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment)

การประเมินผลตามสภาพจริง จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning) ซึ่งทั้งสองส่วนรวมเรียกว่า “วิธีการที่เป็นชีวิตจริง”(Authentic Approach)

ลักษณะของการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning)
1. เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง เพื่อให้สามารถถ่ายโยงการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่างๆตามสภาพในชีวิตจริง
2. เป็นการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เด็กคิด อยากปฏิบัติ ด้วยการกำหนดปัญหาที่ท้าทายความสามารถและตรงกับชีวิตจริง มีคุณค่ามีความหมายต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
3. เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนคิดหาวิธีปฏิบัติหรือแก้ปัญหาตามแนวทางของตน มีลักษณะเปิดกว้าง อิสระเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน
4. เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ หรือสรุปความคิดรวบยอดด้วยตนเอง
5. เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนบูรณาการความรู้ทั้งหมดที่เรียนมา จากหลายเนื้อหาหรือหลายวิชามาประยุกต์ใช้ปก้ปัญหาต่างๆทั้งในและนอกห้องเรียน

ลักษณะของการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment)
1. เน้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมเพื่อสะท้อนความรู้ความสามารถที่แท้จริง
2. มุ่งหาจุดเด่นของนักเรียน เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถของนักเรียนให้เต็มศักยภาพ
3. ไม่เน้นการประเมินเฉพาะทักษะพื้นฐาน แต่เน้นการประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อน
4. เน้นการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน
5.ใช้รูปแบบการประเมินหลากหลายเช่นการสังเกต การตรวจผลงาน การสัมภาษณ์ และแฟ้มสะสมงานเพื่อให้ได้ข้อมูลของนักเรียนที่แท้จริงในทุกแง่มุม
6. เน้นการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ผู้ปกครองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง
7. เน้นให้ผู้เรียนรู้จักพัฒนาตนเองมากกว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น
8. การประเมินผลจะสัมพันธ์อย่างกลมกลืนกับการเรียนการสอน สามารถประเมินได้ทุกขณะที่กำลังทำกิจกรรม

วิธีการประเมินผลตามสภาพจริง มีหลายวิธีดังนี้
1. PERFORMANCE คือ วิธีการประเมินที่เน้นการแสดงออกของนักเรียนในภาคปฏิบัติ
2. PROCESS คือ วิธีการประเมินที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น สังเกตขั้นตอนการทำงาน หรือวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรม เป็นต้น
3. PRODUCTS คือ วีธีการประเมินที่เน้นผลผลิตของนักเรียน เช่น การตรวจผลงาน
4. PORTFOLIO คือ วิธีการประเมินโดยให้นักเรียนเก็บสะสมงานหรือทำแฟ้มสะสมงาน

Portfolio-AssessmentB: แฟ้มสะสมงาน (PORTFOLIO)

แฟ้มสะสมงานนักเรียน หมายถึง แหล่งสะสมผลงานของนักเรียน เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าและผลสัมฤิทธิ์ของนักเรียนในเรื่องที่ได้รับมอบหมาย

ประเภทของแฟ้มสะสมงาน แบ่งตามจุดประสงค์ที่ใช้แตกต่างกัน ดังนี้
1. แฟ้มสะสมงานส่วนบุคคล จะแสดงถึงบุคลิกภาพส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคน ทำให้ครูรู้จักความสามารถพิเศษ ความสนใจ เพื่อประโยชน์ในการแนะแนวการศึกษา
2. แฟ้มสะสมงานโครงการต่างๆ แสดงถึงความพยายามในการทำงานตามโครงการจนสำเร็จ
3. แฟ้มสะสมงานเชิงวิชาการ แสดงถึงความรู้ความสามารถของนักเรียน เพื่อประเมินผล
– แฟ้มสะสมงานของนักเรียนเป็นรายบุคคล
– แฟ้มสะสมผลงานของชั้นเรียน
– แฟ้มสะสมผลงานของโรงเรียน
4. แฟ้มสะสมงานเชิงวิชาชีพ แสดงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล เพื่อใช้สมัครเข้าเรียน
ต่อหรือสมัครเข้าทำงานหรือเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เช่น
– แฟ้มสะสมงานของนักเรียนเพื่อการเรียนต่อหรือสมัครงาน
– แฟ้มสะสมงานด้านประสบการณ์ในการสอนของนักศึกษาฝึกสอนหรือของครู
– แฟ้มสะสมผลงานของผู้บริหาร
– แฟ้มสะสมงานของหนักงานในองค์กรธุรกิจ

ลักษณะของแฟ้มสะสมงานนักเรียน
1. แฟ้มสะสมงานชั่วคราว (Working Portfolio) ใช้เก็บผลงานทุกชิ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ อาจเป็นงานที่ยังทำไม่เสร็จหรือเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้คัดเลือกผลงานที่พอใจและการจัดเก็บยังไม่เป็นระบบ
2. แฟ้มสะสมผลงานดีเด่นฉบับสมบูรณ์ (Final Portfolio) ใช้เก็บสะสมผลงานดีเด่นที่ผ่านการคัดเลือก โดยนักเรียนที่เป็นเจ้าของผลงานและมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า และความสำเร็จในการเรียน สามารถใช้เป็นหลักฐานในการตัดสินผลการเรียนได้

องค์ประกอบของแฟ้มสะสมงาน
ตอนที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย คำนำ/สารบัญ/คำนิยม/ใบประกาศเกียรติคุณ/ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของแฟ้ม เป็นต้น
ตอนที่ 2 ผลงานที่คัดเลือก เพื่อเก็บสะสมและหลักฐานการประเมินผลงานแต่ละชิ้น
ตอนที่ 3 สรุปการประเมินผลงาน ในแฟ้มสะสมงาน เพื่อตัดสินผลการเรียน

ขั้นตอนการจัดทำแฟ้มสะสมงานนักเรียน
1. กำหนดจุดประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน
2. รวบรวมและจัดเก็บผลงาน
3. คัดเลือกผลงาน
4. สร้างสรรค์ผลงานให้มีลักษณะเฉพาะตัว
5. แสดงความคิดเห็นต่อผลงาน
6. ตรวจสอบผลงานของตนเอง
7. ประเมินผลแฟ้มสะสมงาน
8. ประชุมแฟ้มสะสมงาน
9. พัฒนาแฟ้มสะสมงาน ปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบัน
10. จัดนิทรรศการแฟ้มสะสมงาน

ข้อดีของการจัดทำแฟ้มสะสมงานนักเรียน
1. เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียน
2. นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะการคิด การทำงาน การจัดการและการสื่อสาร
3. ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จากนามธรรมไปสู่รูปธรรม
4. แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและมีการปรับปรุงงาน
5. นักเรียนทำงานด้วยตนเอง รู้วิธีประเมินค่าผลงาน
6. เป็นสื่อหรือตัวกลางแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ข้อด้อยของการจัดทำแฟ้มสะสมงานนักเรียน
1. ใช้ครุภัณฑ์มากขึ้น
2. ครูต้องเก่งและมีทักษะในการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
3. ครูต้องใช้เวลาในการตรวจแก้งานของนักเรียนมาก
4. ครูต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปเป็นนักวางแผนและการจัดการ

วิธีและเกณฑ์การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงานนักเรียน
1. การประเมินแบบองค์รวม หมายถึง การให้คะแนนผลงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งโดยพิจารณาจากภาพรวมของผลงานชิ้นนั้นว่า มีคุณภาพเป็นอย่างไร เช่น คุณภาพด้านความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด สื่อความหมาย กระบวนการทำงานและผลงาน โดยแบ่งเป็น 3,4 หรือ 5 ระดับ เป็นต้น
2. การประเมินผลแบบแยกองค์ประกอบ หมายถึง การให้คะแนนโดยแยกผลสัมฤทธิ์ของงานชิ้นหนึ่งออกเป็นหลายๆด้าน เพื่อให้คะแนนตามระดับความสำเร็จของงานนั้นๆของนักเรียน

หนังสืออ้างอิง :: บูรชัย ศิริมหาสาคร.การสร้างและการใช้แฟ้มสะสมงาน. กรุงเทพมหานคร:อักษรเจริญทัศน์, 2541.



Leave a Comment