[ข้อมูล] วันอาสาฬหบูชา วันแสดงปฐมเทศนา บังเกิดพระสงฆ์รูปแรก ครบองค์พระรัตนตรัย วันบูชาพระสงฆ์ [วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8]

วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า วัน-อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ วัน-อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ตรงกับ วันเพ็ญเดือนแปด ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน ถ้าปีใดมีเดือนแปดสองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หลัง ถือเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ โดยในปี พ.ศ. 2557 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันศุกร์ ที่ 11 กรกฎาคม (ขึ้น 15 คํ่า เดือน 8)
Asalha-Puja“อาสาฬหบูชา” แปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 กล่าวคือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาธรรมที่ทรงตรัสรู้โปรดปัญจวัคคีย์ (ฤาษี) ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จน อัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน โดยมีความเห็นแจ้งชัดว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ : สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา”

พระพุทธเจ้า ครั้นทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นโสดาบันแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” อันเป็นเหตุ ให้ท่านโกณฑัญญะได้นามว่า อัญญาโกณฑัญญะ มานับแต่นั้น

อัญญาโกณฑัญญะ ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยการเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นพระภิกษุได้) พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา และในวันต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ จึงถือว่าวันอาสาฬหบูชา มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และอาจสรุปได้ว่า วันอาสาฬหบูชา มีปรากฏการณ์สำคัญ ๆ 4 ประการ คือ
     1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
     2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
     3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
     4. เป็นวันแรกที่บังเกิดครบองค์พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
     ทั้งนี้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรมให้เป็นไป มีธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ โดยชี้ว่า บรรพชิต (นักบวช) ไม่ควรประพฤติใน 2 เส้นทาง คือ
     1. กามสุขัลลิกานุโยค ลัทธิถือการประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง
     2. อัตตกิลมถานุโยค ลัทธิถือการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก เป็นลัทธิก่อให้เกิดความทุกข์ มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
     ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องดำเนินทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรค 8 ได้แก่

     1. สัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาเห็นชอบ หมายถึง ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยสติและปัญญา
     2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม ไม่หลุมหลงมัวเมาในสิ่งไม่ดี
     3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
     4. สัมมากัมมันตะ คือ ความประพฤติชอบ หมายถึง การประพฤติดีงาม อยู่ในทำนองคลองธรรม
     5. สัมมาอาชีวะ คือ การมีอาชีพชอบ หมายถึง การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น
     6. สัมมาวายามะ คือ การมีความมานะชอบ หมายถึง ความอุตสาหะพยายาม มีความอดทนต่อการปฏิบัติงานใดๆ
     7. สัมมาสติ คือ การมีสติชอบ หมายถึง การมีสติ ใช้สติอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำจิตให้เลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
     8. สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิชอบ หมายถึง การฝึกจิตให้สงบและตั้งมั่น เพื่อให้ปราศจากกิเลสและนิวรณ์อยู่เสมอ
2. อริยสัจ 4; อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลศทั้งปวง ได้แก่
     1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ จักต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันในความจริง ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้ปัญหา กล้าเผชิญหน้า ต้องเข้าใจในสภาวะโลกในทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
     2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หมายถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดทุกข์ ที่จะเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ
     3. นิโรธ ได้แก่ การดับทุกข์ การอยู่อย่างรู้เท่าทัน การดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา การไม่มีทุกข์ การไม่ข้องเกี่ยวในกิเลศ
     4. มรรค ได้แก่ หนทางในการแก้ไขปัญหา ในการดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง 8 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรม โกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี ) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา ได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่งคือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรี ลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมาโดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่องกำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มี ประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชา ขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา 1 สัปดาห์ ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรม ตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกัน ที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ ยืนประนมมือสำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา จบแล้วทำประทักษิณ ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรค่ำแล้วสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรค่ำ ต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน จบแล้ว ให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์ สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัย ให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา 24.00 น . และได้มีการทำ พิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการได้มีประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันอาสาฬหบูชา
ก. กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
     1. ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งที่บุชาประจำบ้าน
     2. ศึกษาเอกสาร หรือสนทนา เกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
     3. ตั้งใจและอธิษฐานจิตที่จะน้อมนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยใช้หลักธรรมทางสายกลาง และส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิก อบายมุข
     4. นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในช่วงเช้าหรือเพล บริจาคทาน ให้ทาน หรือบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ /ผู้ด้อยโอกาส หรือจะบริจาคโลหิตก็ได้
     5. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระ สวดมนต์ หรือปฏิบัติสมาธิ/วิปัสสนา รักษาศีล สำรวมระวังกาย วาจา และใจ โดยอาจจะรักษาศีล 5 หรือศีล 8 เป็นกรณีพิเศษ
    6. พาครอบครัวไปทำบุญ บำเพ็ญกุศล เวียนเทียน หรือไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัด
    7. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

ข. กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา 
     1. ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
     2. ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลางและแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา
     3. ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
     4. ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
     5. ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา
     6. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

ค. กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน
     1. ทำความสะอาด บริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
     2. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
     3. จัดป้ายนิเทศเกี่ยวกับหลักธรรมทางสายกลางเพื่อสร้างอุดมการณ์ในการทำงาน
     4. จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม
     5. ร่วมกับบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
     6. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม
     7. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

ง. กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม
     1. วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์เรื่องวันอาสาฬหบูชา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
     2. จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่าง ๆ
     3. เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์
     4. รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ให้ลด ละ เลิก อบายมุข และให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด
     5. ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
     6. รณรงค์ให้มีการรักษา สภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด ที่สาธารณะ
     7. จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้องกรอง บทความเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา
     8. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

ประโยชน์จากการจัดงานวันอาสาฬหบูชา
     1. พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติ . พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันอาสาฬหบูชา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางสายกลาง
     2. พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
     3. พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตาม

เรียบเรียงจาก
1. http://hilight.kapook.com/view/26024
2. http://th.wikipedia.org/wiki/วันอาสาฬหบูชา
3. http://www.learntripitaka.com/History/asalha.html
4. http://scoop.mthai.com/specialdays/1205.html
5. http://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=651:2011-02-18-14-34-12&catid=49:0702&Itemid=79
ภาพประกอบจาก : http://citcoms.nu.ac.th/backoffice/php_form/uploads/images/arsaraha1.jpg



Leave a Comment