4 วิธีปั้นเด็กยุคใหม่ให้เป็นผู้นำตนเอง การประยุกต์หลัก 7 อุปนิสัยผู้มีประสิทธิผลสูง พัฒนานักเรียนโรงเรียนตาเบาวิทยา

“Leadership is a choice, not a position”
Dr. Stephen R. Covey

ภาวะผู้นำสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ผู้นำ’ เราจะนึกถึงภาพของผู้มีอำนาจ มีตำแหน่งใหญ่โต ต้องเป็นประธานาธิบดี เป็นผู้บริหารระดับสูงก่อนเป็นอันดับแรก แต่ ดร.สตีเฟน อาร์. โควีย์ เจ้าของผลงาน 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) บอกว่า ทุกคน ‘เลือก’ ที่จะเป็นผู้นำได้ อย่างน้อยที่สุดคือเริ่มจากการเป็น “ผู้นำในตัวเอง” คือ “เป็นผู้กำหนดชีวิตและทางเลือกด้วยตัวเอง ไม่หยุดพัฒนา และมุ่งทำประโยชน์และมอบสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น” นี่คือ หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้

การสร้างเด็กให้เป็นผู้นำ ไม่ได้หมายความว่าจะปั้นเขาให้เติบโตเป็นถึงผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ หรือของโลก แต่เป็นการช่วยให้เขา “พัฒนาเป็นผู้นำในชีวิตของตัวเองและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรอบข้าง เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง กล้าตัดสินใจ มีวินัย และเข้าใจผู้อื่น” ในเมื่อทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้และมีสิ่งนี้อยู่ในตัวอยู่เองแล้ว ความท้าทายอยู่ที่เราในฐานะผู้ใหญ่จะบ่มเพาะและปลดปล่อยศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็กออกมาได้อย่างไร

The Leader in Me (ผู้นำในตัวฉัน)
กระบวนการพัฒนาภาวะผู้นำจากภายในสู่ภายนอกที่สร้างจากหลักการของ 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) ที่ได้รับการยอมรับด้วยการวิจัยและผลสำเร็จในสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก แนะนำวิธีส่งเสริมภาวะผู้นำในเด็กที่พ่อแม่หรือครูสามารถนำไปทำได้ง่ายๆ ที่บ้านหรือที่โรงเรียน ด้วยการให้โอกาสเด็กๆ ทำ 4 อย่าง (โรงเรียนตาเบาวิทยา ประยุกต์ใช้หลักการ 4 อย่าง ในการจัดทำนวัตกรรม Everyone is a Leader; Leader in Me, Leader in You) ต่อไปนี้ 

1. เป็นแบบอย่าง
ฝึกให้เด็กมีทักษะของผู้นำ สอนโดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เริ่มที่พ่อแม่และคนในครอบครัวก่อน (ที่บ้าน) (รวมถึง ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูในโรงเรียน) เช่น
(1) การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น เช่น การดำเนินงานของกลุ่มกิจการนักเรียน โรงเรียนตาเบาวิทยา ที่จะรับฟังและดำเนินการกับผู้เรียนอย่างเข้าอกเข้าใจ ก่อนตัดสินใจแก้ปัญหากับนักเรียน (อุปนิสัยที่ 5: เข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา Seek First to Understand , Then to Be Understood)
(2) การคิดแบบชนะ-ชนะกับลูก (และนักเรียน) โดยเปิดให้เขาเลือกว่าเขามิสิทธิ์เลือกทำสิ่งที่ตนเองก็ได้ประโยชน์และผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ (อุปนิสัยที่ 4: คิดแบบชนะ-ชนะ (Think Win-Win))
(3) การทำงานเป็นทีม เช่น หาวิธีรวมพลังประหยัดค่าน้ำค่าไฟ และการชื่นชมในความแตกต่างของผู้อื่น ไม่เปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง (เพื่อนกับเพื่อน) ให้เขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรที่เก่งเลยทั้งๆ ที่คนเราเก่งไม่เหมือนกัน (อุปนิสัยที่ 6: ผนึกพลังประสานความต่าง (Synergize))

2. ให้อิสระ
เปิดโอกาสให้เด็กเลือกวิธีการเรียนรู้และกำหนดการกระทำของตัวเอง เช่น ฝึกการตั้งเป้าหมายชีวิต ตั้งเป้าหมายการเรียน และติดตามผลด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ (และครู) คอยดูแลอยู่ห่างๆ และคอยดูทิศทางที่เขาเดิน การทำแบบนี้เขาจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองและได้ปลดปล่อยศักยภาพ พร้อมทั้งรู้สึกสนุกกับแต่ละทางเลือก (อุปนิสัยที่ 1: ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive) : ตัวเองเป็นผู้กำหนดชีวิตของตัวเอง และอุปนิสัยที่ 2 เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the End in Mind) : มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต)

3. ฝึกให้สอนผู้อื่น
เด็กจะเรียนรู้การเป็นผู้นำเมื่อได้โอกาสลองเป็นพี่เลี้ยงและสอนคนอื่นเป็น เช่น ฝึกให้สอนการบ้านเพื่อนในวิชาที่เขาถนัด การจับคู่บัดดี้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง หนึ่งในคุณสมบัติของความเป็นผู้นำคือ สร้างคนอื่นให้เป็นผู้นำด้วย วันที่คนที่เขาสอนสามารถเก่งและดีขึ้นได้ วันนั้นเขาจะรู้สึกถึงความเติมเต็มในชีวิตว่าเขาสามารถช่วยให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นได้ และนั่นคือ ตัวจุดประกายภาวะผู้นำในตัวเขาให้สร้างผู้นำต่อไป (เช่น กิจกรรม 1 คน 1 ความรับผิดชอบผู้นำประจำชั้น) (อุปนิสัยที่ 3: ทำสิ่งที่สำคัญก่อน (Put First Things First))

4. มอบบทบาทผู้นำ
เป็นโอกาสให้เด็กได้ฝึกใช้ทักษะผู้นำในสถานการณ์จริง เช่น มอบหมายบทบาทผู้นำด้านต่างๆ ให้กับเด็กทุกคนในชั้นเรียน โดยให้เขาเลือกเองว่าอยากจะเป็นผู้นำด้านอะไร เช่น ผู้นำวิทยาศาสตร์ ผู้นำโยคะ ผู้นำด้านการส่งการบ้าน ผู้นำด้านความสะอาด หรือหากเป็นที่บ้านอาจมอบบทบาทผู้นำด้านความสะอาด ผู้นำด้านอาหาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยฝึกให้เขามีความรู้สึกว่า เขามีศักยภาพในเรื่องที่ถนัดและรู้สึกมั่นใจว่าตนเองมีคุณค่าที่จะทำอะไรให้กับผู้อื่นและโลกใบนี้ (กิจกรรมเพื่อนแท้ ผู้นำเยาวชน โรงเรียนตาเบาวิทยา และเด็กทุกคนต้องมีโอกาสเรียนรู้การเป็นผู้นำและนำเสนอในที่สาธารณะ) (อุปนิสัยที่ 7: ฝึกฝนตนเองให้พร้อมเสมอ (Sharpen the saw): ดูแลตนเอง สร้างสมดุลให้ชีวิตของตนเองทุกมิติ)

“ชีวิตเรา เรากำหนดได้ หากเราต้องการสิ่งใด เราต้องเป็นคนทำให้เกิดขึ้นเอง” – ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข

เรียบเรียงและประยุกต์เพื่อดำเนินกิจกรรมในสถานศึกษาโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
แหล่งข้อมูล :
1. http://www.satitbangna.ac.th/หลักสูตร-7-habits/

2. https://www.pacrimgroup.com/blog/4-ways-build-young-leader/

ภาพประกอบจาก : http://www.pacrimgroup.com/wp-content/uploads/2017/01/4ways.png



Leave a Comment