[ข้อมูล] วันรำลึกยุวชนทหาร กำเนิด รด. นักศึกษาวิชาทหาร ญี่ปุ่นบุกไทย ปิดเทอมไปรบ [8 ธันวาคม 2484]

king-rama-8-little-soldier   ยุวชนทหาร (ยวท.) คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2478-2490 (ค.ศ. 1935-1947) โดยอยู่ในช่วงที่เหตุการณ์ในยุโรปประมาณทศวรรษที่ 1930 กำลังผันผวนเกิดปัญหามีสงครามกันอยู่นั้น รัฐบาลได้คำนึงว่า ทหารกองหนุนของไทยมีจำนวนมาก แต่ขาดตัวผู้บัญชาการในตำแหน่งผบ.หมวด จึงได้มีแนวคิดจัดตั้งกรมยุวชนทหารขึ้น โดยให้มีหน้าที่ผลิตนายทหารชั้น ผบ. หมวด  ดังนั้น ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหมได้เริ่มมีการฝึกวิชาทหารให้แก่นักเรียน โดยหน่วยฝึกยุวชนทหารครั้งแรกของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 315 นาย อยู่ในความอำนวยการของมณฑลทหารบกที่ 1 ต่อมาได้ขยายกว้างขวางออกไปจนถึงต่างจังหวัด มีหลักเกณฑ์เข้ารับการฝึกเพื่อเป็นยุวชนทหาร คือ
   1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 17 ปี
   2. เป็นลูกเสือเอก
   3. เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

ในภาพ : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงฉลองพระองค์ยุวชนทหาร พระราชทานธงประจำกองยุวชนนายทหาร เมื่อ พ.ศ. 2482 (ค.ศ.1939)

บทบาทสำคัญของยุวชนทหาร
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก ทางด้านจังหวัดพิบูลสงคราม (ดินแดนที่ไทยยึดจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2484 ช่วงสงครามอินโดจีน ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยต้องส่งคืนกลับไปให้ฝรั่งเศส) และจังหวัดต่าง ๆ ตามชายฝั่งอ่าวไทย 7 จังหวัดภาคใต้คือ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี เพื่อขอผ่านไปตีพม่าและมลายูของอังกฤษ จนเกิดปะทะกับ ทหาร ตำรวจและยุวชนทหารไทย ซึ่งได้ต่อสู้อย่างดุเดือด ในที่สุดรัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศได้

thai-japan-war

โดยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ประมาณ 2 ปี การฝึกยุวชนทหารได้ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2490 อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในด้านการเตรียมกำลังสำรองสำหรับประเทศยังคงมีอยู่ จึงได้มีการจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนในปี พ.ศ. 2491 เพื่อผลิตทหารเป็นกำลังสำรองทดแทนยุวชนทหารสืบต่อมา โดยมีชื่อเรียกกำลังสำรองดังกล่าวว่า “นักศึกษาวิชาทหาร” (นศท.) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “รด.” (รักษาดินแดน) ซึ่งมาจากการย่อชื่อของ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน

ปี พ.ศ. 2509 : การสวนสนามส่วนกลางครั้งแรกของนักศึกษาวิชาทหาร การสวนสนามได้เริ่มจัดขึ้นในส่วนกลางเป็นครั้งแรก ณ พระลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) โดยมี จอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธี

ปี พ.ศ. 2542 : ทบ. อนุมัติให้วันที่ 8 ธันวาคม เป็นวัน “นักศึกษาวิชาทหาร” กรมการรักษาดินแดน หรือ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้ขออนุมัติไปยังกองทัพบก เพื่อกำหนดให้เป็นวันสำคัญสำหรับนักศึกษาวิชาทหาร และเพื่อเป็นการรำลึกถึงความกล้าหาญของเหล่าเยาวชนผู้กล้า ทางกองทัพบกได้ให้ความเห็นชอบ และอนุมัติให้ถือเอาวันที่ 8 ธันวาคม เป็น “วันนักศึกษาวิชาทหาร” โดยมีการมอบหมายให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเป็นหน่วยรับผิดชอบในส่วนกลาง สำหรับในส่วนภูมิภาคจะมอบให้ศูนย์การฝึกหรือหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารมณฑลทหารบกเป็นผู้รับผิดชอบ และให้นักศึกษาวิชาทหารทุกคนประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน รวมถึงมีการสวนสนามพร้อมกันทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/ยุวชนทหาร



Comments are closed.