[เที่ยวอินทนนท์] พิชิตยอดดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดในสยาม ไหว้กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ชมดวงอาทิตย์ขึ้นที่กิ่วแม่ปาน

เมื่อเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง ไปยังอำเภอจอมทอง และก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) ตรงไปอีกจนถึง กม.ที่ 42 จะเป็นจุดชมวิว กิ่วแม่ปาน (สูงจากระดับน้ำทะเล 2157 เมตร) ที่แห่งนี้ ทุกเช้าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้น (ท้องฟ้าช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ว่ากันว่าก็สวยเหมือนกัน) มีร้านอาหารหลายแห่งบริการครับ

sunrise-mapanจากกิ่วแม่ปาน ขึ้นดอยอินทนนท์ต่อไปอีกเล็กน้อย ประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.ที่ 48) ก็จะถึงจุดลานจอดรถบริเวณสถานีเรดาห์ (ไปไหนต่อไม่ได้อีกแล้ว) เมื่อเดินไปตรงข้ามกับสถานีเรดาร์ก็จะเจอป้าย สูงสุดแดนสยาม สูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่มหาชนนักท่องเที่ยว ที่บุกมาถึงที่นี่ ต้องแชะเอาไว้สักรูปเป็นที่ระลึก เมื่อเดินขึ้นไปอีกเล็กน้อย จะพบสถูปพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และหมุดแสดงจุดสูงสุดของประเทศไทย

highest-siamดอยอินทนนท์ เดิมชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” คำว่า “ดอยหลวง” หมายถึง ภูเขาสูงใหญ่ ส่วน “ดอยอ่างกา” นั้นมีเรื่องเล่ากันว่า ห่างจากยอดดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 300 เมตร มีหนองน้ำ แต่ก่อนมีนกกาไปเล่นน้ำ กันมากมายจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพยจักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ( ปี พ.ศ. 2414 ถึง 2440 ) พระองค์มีความหวงแหนป่าไม้มาก โดยเฉพาะดอยหลวงแห่งนี้ จึงได้รับสั่งไว้ว่า หากพระองค์ถึงแก่พิราลัยแล้ว ให้นำพระอังคารของพระองค์มาไว้ ณ ยอดดอยหลวงด้วย ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ฯ ถึงแก่พิราลัย ราชธิดา คือ เจ้าดารารัศมี (ราชชายาในรัชกาลที่ 5) จึงได้อัญเชิญพระอังคารของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ฯ มาประดิษฐาน ณ พระสถูป บนยอดดอยหลวง … ดอยหลวง หรือ ดอยอ่างกา จึงได้ เปลี่ยนชื่อเป็น “ดอยอินทนนท์” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พระอัฐิเจดีย์ (กู่) พระเจ้าอินทวิชยานนท์

 king-inthanon-memorialเมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรที่นครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2457 และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 พระองค์ได้เสด็จประทับแรมบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในพระราชอาณาจักร พระองค์ได้ประทับอยู่ 2 ราตรี และได้โปรดให้สร้างพระอัฐิเจดีย์ โดยได้ทรงใช้หินก้อนใหญ่ก่อขึ้นมาเป็นรูปเจดีย์ และได้บรรจุพระอัฐิของพระบิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ ไว้ ณ ที่นั้น

เมษายน 2499 คณะนิยมไพร นำโดยนายบุญเสริม ศาสตราภัย ได้เดินทางฝ่าความยากลำบากและความหนาวเย็น ขึ้นไปสำรวจ และได้ถ่ายภาพไว้ โดย ลักษณะกู่ที่ไปพบครั้งนั้น คือ ตรงกลางมีกู่ก่ออิฐถือปูนเป็นรูปคล้ายปล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 75 ซม. สูงประมาณ 2 ฟุตเศษ ด้านบนเปิดโล่ง ด้านหนึ่งกู่นี้ลักษณะคล้ายถูกทำลาย ส่วนอีก 3 ด้านที่เหลือ มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ส่วนบนมีร่องรอยว่าถูกทำลาย รอบๆกู่จะมีก้อนหินสุมทับเอาไว้สูงประมาณ 1 เมตร ที่ตั้งของกู่ในครั้งนั้น คือที่ประดิษฐานกู่ในปัจจุบันนี้

ปี พ.ศ. 2518 กองทัพอากาศได้สร้างเจดีย์เล็กองค์หนึ่งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ อีกทั้งให้เป็นสถานที่ไว้เคารพสักการะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการบนดอยอินทนนท์นี้ โดยได้ก่อสร้างเจดีย์ด้านหน้าของพระอัฐิเดิม และได้สร้างรั้วเหล็กล้อมของเดิมไว้

20 พฤษภาคม 2529 คณะเจ้านายบุตรหลานสาย “เจ้าเจ็ดตน” คณะสงฆ์และคณะทหารอากาศ ได้เห็นพ้องต้องกันว่าพระอัฐิเดิมนั้นได้ทรุดโทรมไปมากจึงได้จัดหาทุนเพื่อสร้างพระอัฐิเจดีย์ใหม่แทนองค์เดิมซึ่งได้ล้อมรั้วเหล็กไว้นานแล้วนั้น ในที่สุดก็ได้ร่วมกันประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และได้ทำการก่อสร้างพระอัฐิเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นครอบฐานองค์เดิม จนแล้วเสร็จดังได้ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

สำหรับ สถานีเรดาร์บนดอยอินทนนท์ เป็นสถานที่ทางการทหาร ของกองทัพอากาศ ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพบริเวณภายในสถานีเรดาร์ได้ แต่สามารถแวะไปกินกาแฟ ถ่ายรูปนก ถ่ายดอกไม้ ที่ด้านหน้าทางเข้าสถานีได้ แต่เมื่อเข้าไปในพื้นที่ควบคุม อันนี้ห้ามเด็ดขาด ปกติไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ อันนี้เป็นกรณีพิเศษ ภาพนี้ถ่ายในตัวอาคารของกองทัพอากาศ ครับ ภายในอาคารนี้ ถ่ายภาพได้ (ภายนอกอาคาร ห้ามถ่ายภาพ) ต้องขอบพระคุณสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่มอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจนี้ นอกเหนือจากความรู้ทางดาราศาสตร์ ครับ

inthanon-roomนอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวต้องการชมวิวทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ สามารถแวะชมวิวขากลับลงจากดอยอินทนนท์ที่ ที่บริเวณ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และ พระมหาธาตุนภเมทนีดล และเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน จะเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่น่าสนใจ และเหมาะสมกว่า ครับ

เรียบเรียงจาก 
1. ประสบการณ์เที่ยวดอยอินทนนท์
2. http://library.cmu.ac.th/popup/about_popup59.html



Leave a Comment