Anantasook.Com

เที่ยวลาวเหนือ เที่ยวเชียงขวาง ชมทุ่งไหหิน ไหหินปริศนาที่เมืองโพนสะหวัน เชียงขวาง

ทุ่งไหหิน (Plain of Jars) คือ ภูมิประเทศทางโบราณคดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของหินใหญ่ (Megalith) ที่กระจัดกระจายไปทั่วที่ราบสูงเชียงขวาง ของแขวงเชียงขวาง ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วยหินใหญ่รูปทรงไห จำนวนกว่าครึ่งพันไห ปรากฏเป็นกลุ่มๆ ตลอดแนวเขาและอยู่ล้อมรอบหุบเขาสูง

ปัจจุบัน รัฐบาล สปป.ลาว กำลังผลักดันให้องค์การยูเนสโกจดทะเบียน ทุ่งไหหิน (Plain of jar) ในแขวงเชียงขวาง เป็นแหล่งมรดกโลก ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง จัดว่าเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีที่น่าสนใจและสำคัญของประเทศลาว เพราะเต็มไปด้วยไหหินอายุระหว่าง 2,500 – 3,000 ปี จำนวนมากที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ นักวิชาการเชื่อว่า แหล่งโบราณคดีทุ่งไหหิน ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมที่ซับซ้อนขณะนั้นและโครงสร้างของไหหินจะระบุถึงการมีอยู่ของชุมชนโบราณ “ยุคเหล็ก” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อสันนิษฐานการเกิดไหหิน
          ผู้เขียนมีโอกาสมาเห็น “ไหหิน” กับตา แล้วยืนยันได้ว่า ไหหินเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติแน่นอน หากแต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์สร้างขึ้น แต่สร้างขึ้นโดยใคร สร้างอย่างไร และเพื่อวัตถุประสงค์ใด ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่คาดว่าสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้
          1. เป็นที่บรรจุศพคนตาย หรืออัฐิคนตาย โดยตัดและกระเทาะมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง แล้วบรรจุศพคนตาย เมื่อพันปีมาแล้ว (ยุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก 3,000-4,000 ปี) ทั้งนี้เพราะความเชื่อของคนในสมัยนั้น ที่เชื่อว่า สถานที่ฝังศพคนตายต้องรักษาไว้ในที่สูง เพื่อหลีกเว้นการเซาะพังทลายจากน้ำต่างๆ ดังนั้น จึงเห็นไหหินอยู่ในสถานที่เป็นเนินสูง (แต่ Mr.Souysomvang Iengmingkham อาจารย์วิทยาลัยครูคังไข แขวงเชียงขวาง ให้ข้อมูลว่า ไม่เคยมีการค้นพบกระดูกหรือเถ้ากระดูกในไหเหล่านี้เลย)
          2. เป็นไหเหล้าของนักรบโบราณ ตามตำนานท้องถิ่นลาว ที่กล่าวไว้ว่าระหว่างศตวรรษที่ 8 นักรบผู้กล้าหาญของลาวผู้หนึ่ง ชื่อว่าท้าวขุนเจือง ได้ยกกำลังพลไปทำสงครามแล้วก็ได้ชัยชนะอยู่ที่เชียงขวาง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ก็ได้ทำการฉลองชัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 7 เดือน ไหที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นไหเหล้าสำหรับเลี้ยงไพร่พลในการฉลองชัยชนะของท้าวขุนเจือง ในคราวนั้น ดังนั้น คนลาวทั่วไปมักเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง” ตามข้อสันนิษฐานนี้ เชื่อกันว่า ไหถูกหล่อแบบขึ้นมาโดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว ทราย และซากพืชซากสัตว์ในรูปแบบหินผสม เป็นต้น ถ้ำที่อยู่ใกล้ทุ่งไหหิน (ภาพที่ 3) คือเตาเผา และไหหินถูกเผาที่นี่ เมื่อเวลาผ่านไป ไหเหล่านั้นก็กลายเป็นหิน
          3. ไหหินเหล่านี้ สร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำฝนในฤดูมรสุม ของคนสมัยโบราณ หรือสำหรับกองคาราวานซึ่งอาจไม่สามารถหาน้ำได้ระหว่างการเดินทางผ่านที่ราบสูงแห่งนี้

ทุ่งไหหินในประเทศลาว มีจำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นทุ่งไหหินที่ใหญ่ มีไหหินมากที่สุด และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากที่สุดเพราะใกล้ตัวเมือง โดยอยู่ห่างจากเมืองโพนสะหวัน (เมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 7.5 กิโลเมตร ไปทางเมืองคูน (เมืองหลวงเก่าของแขวงเชียงขวาง) มีจำนวนไห ประมาณ 200 ไห และมีขนาดใหญ่กว่าในกลุ่มอื่นๆ โดยน้ำหนักของแต่ละไหอยู่ที่ 600 กิโลกรัมถึง 1 ตัน ใบที่ใหญ่ที่สุดของ “ไหหินชุดที่หนึ่ง” หนักถึง 6 ตัน อยู่บนเนินเขาขนาดย่อมลูกที่ 1 (ดังภาพที่ 1)


เมื่อเดินถัดจากเนินลงไปทาง “ไหหินชุดที่สอง” ด้านซ้ายมือจะเป็นถ้ำ (ภาพที่ 3) และด้านขวามือจะเป็นกลุ่มไหหินขนาดย่อมชุดที่สอง จำนวนมาก (ดังภาพที่ 2)


ด้านซ้ายมือของทุ่งไหหิน จะพบถ้ำแห่งหนึ่งมีแสงแดดสาดส่องตรงลงมาจากปล่อง ภายในถ้ำมีปล่อง ที่มีความสูงประมาณ 60 เมตร ลักษณะภายในถ้ำไม่ลึกมากนัก สามารถบรรจุคนได้ 50 – 60 คน ถ้ำแห่งนี้ 
(ภาพที่ 3) เคยใช้เป็นที่หลบภัยสงครามของชาวเมืองเชียงขวางช่วงสงครามอินโดจีน ยามเมื่อเครื่องบินอเมริกาบินมาทิ้งระเบิด พร้อมกับใช้เป็นคลังเก็บอาวุธและเชื้อเพลิง ผมเห็นถังเชื้อเพลงถูกฝังไว้ภายในถ้ำหนึ่งถัง 


นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบทุ่งไหหิน เราจะพบร่องรอยการขุดสนามเพลาะเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ และมีหลุมระเบิดขนาดใหญ่หลายหลุม ปรากฎอยู่ทั่วไป ตลอดจนร่องรอยที่ไหหินแตกกระจายอันเป็นผลมาจากฝูงเครื่องบิน บี 52 ของอเมริกา ทิ้งระเบิดในบริเวณแห่งนี้

กลุ่มที่สอง อยู่ห่างจากเมืองโพนสวรรค์ ไปทางใต้ 25 กิโลเมตร มีไหหินที่นี่ราว 90 ไห
กลุ่มที่สาม อยู่ห่างจากกลุ่มที่สองไปทางใต้ 10 กิโลเมตร (35 กิโลเมตร จากเมืองโพนสวรรค์) มีไหหินทั้งสิ้น 150 ไห

ข้อควรระวังในการเที่ยวชมทุ่งไหหิน
เนื่องจากยังมีพื้นที่อีกมากในแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ที่ยังไม่มีการเก็บกู้ระเบิด ดังนั้น นักท่องเที่ยวไม่ควรเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด เพราะอาจไปเจอกับ กับระเบิด ที่หลงเหลืออยู่จากช่วงสงคราม ที่ไม่ทำงานแต่อาจทำงานเวลาใดก็ได้

ชมคลิป : ข้อสันนิษฐานการสร้างทุ่งไหหิน เชียงขวาง

เพลง สาวเชียงขวาง บอกเล่า บทบาทของหญิงสาวลาว ชาวเขียงขวาง ที่ร่วมกันต่อสู้ปกป้องแผ่นดินในช่วงสงครามอินโดจีน

เรียบเรียงจากประสบการณ์ตรงและข้อมูลบางส่วนจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/ทุ่งไหหิน

Exit mobile version