Anantasook.Com

ระบบการศึกษาของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การศึกษาลาว ระบบการศึกษา สปป.ลาว

  lao-classroom

   การจัดการศึกษาของลาว เริ่มด้วยการศึกษาในระดับอนุบาลและก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาลในประเทศลาวจะมีทั้งโรงเรียนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3-6 ปี ใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็นชั้นอนุบาล 1-3 เมื่อจบชั้นอนุบาลแล้วจะเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป
     การศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ สปป.ลาว อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เป็นแบบ 11 ปี คือ ระบบ 5 :3 :3 [ข้อมูลเก่า ; ได้รับแจ้งจาก Khamdy Sithisacck จาก สปป.ลาว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 ว่าปัจจุบันเป็นระบบ 12 ปี คือ ระบบ 5:4:3] ดังนี้ 
          – ประถมศึกษา ใช้เวลาในการศึกษา 5 ปี เด็กจะเริ่มเข้าเรียนเมื่ออายุ 6 ปี การศึกษาในระดับนี้คือเป็นการศึกษาภาคบังคับ เด็กทุกคนต้องจบการศึกษาในระดับนี้ แต่ในทางปฏิบัติการศึกษาภาคบังคับจะมีผลดีแต่เฉพาะเด็กในเมืองใหญ่เท่านั้น เนื่องจากลาวมีพื้นที่ประเทศกว้างขวางและประชากรกระจายกันอยู่
          – มัธยมศึกษาตอนต้น  ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี และในอนาคตจะให้เด็กได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น
          – มัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี 

            สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาชั้นสูง รวมการศึกษาด้านเทคนิคสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือมหาวิทยาลัย อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้นการศึกษาเฉพาะทางซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงอื่น โดยเมื่อเด็กจบการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาแล้ว จะมีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเสนอกระทรวงศึกษาธิการให้เด็กได้เข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่
          – สายอาชีพ ใช้เวลาศึกษา 3 ปี ในวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ เช่น ทางด้านไฟฟ้า ก่อสร้าง บัญชี ป่าไม้ เป็นต้น
          – มหาวิทยาลัย วิทยาลัยครูและสถาบันการศึกษาที่สำคัญต่างๆ  

       นอกจากนี้ หุมพันธ์ ขันทวี พนักงานวิชาการสถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์การศึกษา (ส.ว.ส) กระทรวงศึกษาธิการของ ส.ป.ป.ลาว ให้ข้อมูลแก่ผม (ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า นับตั้งแต่ลาวได้เปลี่ยนการปกครอง ประกาศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2528) เป็นต้นมา สปป.ลาว มีการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ 4 ครั้ง ดังนี้

            การปฏิรูปครั้งที่ 1 ปี ค.ศ. 1975 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ สื่อการเรียนการสอนเป็นภาษาลาวในทุกชั้นเรียน  ระบบการศึกษา ประกอบด้วยชั้นประถมศึกษา จำนวน 5 ปี  ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 3 ปี และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 3 ปี โรงเรียนอนุบาลรับเด็กเข้าเรียนอายุระหว่าง 3 ถึง 5 ปี การศึกษาภาคบังคับรวมทั้งหมด 5 ปี รับเด็กเข้าเรียนชั้นประศึกษาเริ่มตั้งแต่อายุ 6 ปี

            การปฏิรูปครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1980-1990 โดยปี ค.ศ. 1980 ได้ประกาศลบล้างการไม่รู้หนังสือ ได้แก้ไขปรับปรุงหนังสือคู่มือครู และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนโยบายใหม่ของรัฐบาล ในปี ค.ศ. 1986 กรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ปฏิรูปการเมืองและสังคมทำให้มีผลกระทบต่อระบบการศึกษา ถึงแม้ว่า ส.ป.ป.ลาว จะประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก  แต่รัฐบาล ได้พยายามลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

            การปฏิรูปครั้งที่ 3 ปี ค.ศ. 1992 มีการแก้ไขปรับปรุงหนังสือเรียน คู่มือครู และ อุปกรณ์การเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนโยบายใหม่ของรัฐบาล โดยในปี ค.ศ. 1997 กระทรวงศึกษาธิการได้สร้างระบบครูศึกษานิเทศก์ระดับชั้นมัธยมศึกษาขึ้นในระดับจังหวัด และครูศึกษานิเทศก์ระดับชั้นประถมศึกษาในระดับอำเภอ เพื่อติดตามช่วยเหลือครู และให้คำแนะนำการใช้หลักสูตรใหม่ 

            การปฏิรูปครั้งที่ 4 ปี ค.ศ. 2006-2015 และได้ออกกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ เช่น มาตรา 18 ได้กล่าวไว้ว่า ชั้นมัธยมศึกษาต่อจากชั้นประถมศึกษา มีหน้าที่ให้ความรู้ทั่วไป และความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเรียนต่อหรือประกอบอาชีพตามความเหมาะสม ชั้นมัธยมศึกษาประกอบไปด้วยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ได้ปฏิรูประบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจากระบบ 11 ปี (5+3+3)  เป็นระบบ 12 ปี (5+4+3) และเริ่มจัดตั้งปฏิบัติหลักสูตรใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2009 ที่ผ่านมา

           ทั้งนี้ กองประชุมใหญ่ครั้งที่ 8 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2006 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าในปี  ค.ศ. 2020 ต้องทำให้ประเทศชาติหลุดพ้นออกจากความด้อยพัฒนา มีปัจจัยพื้นฐานแห่งการเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม และทันสมัย  เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ในมติได้ระบุไว้ว่านับตั้งแต่ปี 2006 ต้องยึดการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เร่งดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษาแห่งชาติให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงขึ้น โดยมุ่งเน้น “ สร้างคนลาวให้เป็นพลเมืองดี มีการศึกษา มีความรู้ มีวิชาอาชีพ มีความสามารถประดิษฐ์คิดค้น และมีความกระตือรือร้นต่อการพัฒนาประเทศชาติ ก็คือการพัฒนาตนเอง ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์  เป็นคนที่มีคุณสมบัติ และศีลธรรม”  

ที่มา :
1. สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ http://www.bic.moe.go.th
2. หุมพันธ์  ขันทวี, Khamdy Sithisacck และ ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข

Exit mobile version