Anantasook.Com

[เที่ยวศรีสะเกษ] เที่ยวผามออีแดง ชมปราสาทพระวิหาร เขาพระวิหาร มรดกร่วมทางประวัติศาสตร์ของไทยกัมพูชา

pra-viharnการเรียนรู้ ไม่ควรถูกจำกัด ไว้เฉพาะในตำรา เนื้อหาและแบบฝึกหัด ในห้องเรียน เท่านั้น เพราะโลกภายนอกห้องเรียน มีเรื่องน่าค้นหาอีกมากมาย การเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น การทัศนศึกษา หรือท่องเที่ยว หรือดูงาน จึงเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดี ที่เด็กนักเรียนของเราจะได้นำมาต่อเติมเสริมแต่งเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ และและสำหรับบางคน บางครั้ง บางสถานที่ อาจเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าต่อชีวิตและยากจะลืมเลือน เช่น การขึ้นไปที่ ปราสาทพระวิหาร ของจริง ที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (บทความนี้ เขียนก่อนวันที่ศาลโลกจะตัดสินคดีเขาพระวิหาร ที่ว่าด้วยเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556)
                ปราสาทพระวิหาร ผมไปมาแล้วสามครั้ง ครั้งแรกได้ผ่านเข้าไปจนถึงบันไดปราสาทขั้นที่ 1 ครั้งที่สอง พานักเรียนโรงเรียนมัธยมทับทิมสยาม 04 จ.สุรินทร์ ไปทัศนศึกษา เมื่อราวปี พ.ศ. 2548 ได้ขึ้นไปชมปราสาททั้งหมด และครั้งที่ 3 พานักเรียนโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จ.สุรินทร์ ไปชม เมื่อราวปี พ.ศ. 2550 แต่ไทยกับกัมพูชา มีปัญหาข้อพิพาท จึงได้ได้มองตัวปราสาทจากผามออีแดง ฝั่งประเทศไทย
                 ปราสาทพระวิหาร (ทางขึ้นต้องผ่านด่านศรีสะเกษ ซึ่งศาลโลกได้ตัดสินให้ “ตัวปราสาท” อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และกำลังมีกรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร)  ประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (มีพระนามจารึกที่โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 2 ว่า “สูรยวรรมเทวะ” และปีที่สร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ตามจารึกคือ พ.ศ. 1581 ) และสุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 11 และ ศตวรรษที่ 12 ตามลำดับ ในปัจจุบันนี้ปราสาทหลงเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง แต่ทว่ายังมีอาคารปราสาทเหลืออยู่อีกหลายแห่ง
                  ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ คั่นอยู่ 5 ชั้น (โคปุระชั้นที่ 5 เป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้
                  ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก โดยจัดวางผังหันไปทางทิศเหนือ (แนวเหนือ-ใต้) ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่นๆ ซึ่งตามปกติที่มักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก นอกจากถูกกำหนดโดยภูมิศาสตร์แล้ว น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูง(ดินแดนอีสานใต้ของไทย) ตัวปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง วัสดุตัวปราสาทสร้างด้วยหินทราย และหินดาน โดยนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันเพียงอย่างเดียว มีส่วนยึดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น (ภาพที่ 3 นี้ คือ หน้าผา หรือจุดปลายสุดของยอดเขา ที่ตำแหน่งนี้ เราจะมองเห็น ประเทศกัมพูชา (เขมรต่ำ) ได้สุดลูกหูลูกตา)

                  สำหรับคุณครูที่ต้องการนำนักเรียนเข้าชมช่วงนี้ คงต้องบอกว่า เป็นไปไม่ได้เลยครับ ที่จริงก็เป็นไปไม่ได้มาเกือบสิบปีแล้ว แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่จะขอแนะนำ คือ ปราสาทพระวิหาร แบบจำลอง ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ผมเคยไปชมมาแล้ว ยอมรับว่า ออกแบบได้สมจริง และสมบูรณ์กว่ามาก  อลังการทั้งความงามและความรู้สึกในคุณค่า คุณครูจะได้ถือโอกาสได้สอนประวัติศาสตร์ เรื่องการเสียอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร และการถูกรุกรานจากฝรั่งเศส ชาติมหาอำนาจที่ทำให้ สยาม ต้องยอมยกดินแดนจำนวนมาก รวมถึงส่งผลต่อกรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา มาจนทุกวันนี้



ขอบคุณภาพประกอบจาก
: http://www.nathoncity.com/upload/pics/23_175419_93.jpg, เว็บประชาไทย

Exit mobile version