Anantasook.Com

แก้ปัญหางูเข้าบ้าน วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน การกำจัดงูในบ้าน ทำอย่างไรไม่ให้งูเข้าบ้าน รับมืองูเข้าบ้าน

ปัญหางูเข้าบ้าน เป็นปัญหาใหญ่ของทุกครอบครัว เพราะเมื่องูเข้าบ้านมาแล้ว ก็อาจจะไปซุกตัวอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง และถ้าเป็นงูที่มีพิษ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตของคนในบ้านได้ โดยเฉพาะในฤดูฝน จะมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอชุกชุมมากเป็นพิเศษ และมีโอกาสเลื้อยเข้าบ้านสูงตามไปด้วย [งูเห่า (มีพิษ) งูจงอาง (มีพิษ) งูเขียว (ไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย) งูหลามและงูเหลือม (ไม่มีพิษ แต่เขมือบเหยื่อได้ทั้งตัว)]  ANANTASOOK จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันงูเข้าบ้านแบบง่ายๆ มาฝากกัน

สาเหตุที่งูเข้าบ้าน [งูอยากเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน]
1. มีแหล่งอาหารในบ้าน :บ้านหรือสถานที่แห่งนั้น เป็นแหล่งอาหารงูที่อุดมสมบูรณ์ เช่น มีหนูชุกชุม อยู่ใกล้สระหรือบ่อน้ำที่มีปลาเยอะ หรือมีการเลี้ยงสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น นกและลูกไก่ รวมถึงบ้านที่มีหญ้ารกหรือต้นไม้อุดมสมบูรณ์ งูก็มักจะมาซ่อนตัวเพื่อล่าเหยื่อ
2. เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับงู : บ้านที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว หรือพังพอน (คู่อริ) คอยเห่าหรือวิ่งไล่เพื่อก่อความรำคาญใจให้งู หรือบ้านที่มักไม่ค่อยมีคนอยู่บ้าน งูจะชอบมากเป็นพิเศษ เพราะงูชอบอยู่เงียบ ๆ โดยเฉพาะในหน้าฝนหรือมีน้ำท่วมขัง งูจะมุ่งตรงเข้าบ้านเพื่อเลื้อยหาที่แห้ง ๆ ให้ซุกตัว หรือหนีน้ำขึ้นไปอาศัยบนที่สูง
3. เป็นที่อยู่ที่ลงตัวสำหรับงู : เพราะมีที่หลบซ่อนตัว หลับนอน หลบภัย วางไข่ เช่น ใต้ถุนบ้าน ใต้หลังคา ฝ้าเพดาน หรือในตู้ที่ไม่ค่อยเปิดใช้งาน เป็นต้น โดยงูจะเลือกบริเวณที่มีอุณหภูมิเหมาะสม มีความอบอุ่นจากดินหรือแสงแดด พื้นผิวที่ไม่ระคายเคือง ไม่มีกลิ่นและเสียงรบกวน

วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน :: การป้องกันงูเข้าบ้าน สามารถทำได้โดยแก้จากสาเหตุที่งูอยากเข้าบ้าน หรือหาสิ่งของที่เขาว่ากันว่าป้องกันงูได้ มาวางไว้

1. ทำความสะอาดบ้าน : กำจัดหนู จัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่มีสิ่งสกปรกในบ้าน เพื่อไม่ให้บ้านเป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงของงู นอกจากนี้ควรหมั่นตัดหญ้าและดูแลสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแฝงตัวของงู สำหรับบ้านที่มีท่อระบายน้ำ ต้องปิดหรือใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้งูเลื้อยเข้าบ้านทางท่อระบายน้ำ ที่สำคัญอย่าลืมดูรองเท้าก่อนใส่ทุกครั้ง เพราะในรองเท้าเป็นตำแหน่งที่งูมักเข้ามาซุกซ่อนอยู่
2. นำกรวดหรือหินก้อนเล็ก ๆ มาโรยไว้รอบตัวบ้าน : กรวดจะทำให้งูเกิดอุปสรรคในการเลื้อย เพราะเมื่อเจอหินหรือก้อนกรวด จะทำห้งูเลื้อยลำบาก งูก็จะเปลี่ยนใจไปที่อื่นในที่สุด
3. น้ำมันกลิ่นฉุน : กลิ่นแรง ๆ ของน้ำมันเครื่อง น้ำมันก๊าด น้ำมันสน หรือน้ำมันรถ จะทำให้งูไม่อยากย่างกรายเข้ามาใกล้ ดังนั้น ช่วงหน้าฝน หากพบเห็นงูมาป้วนเปี้ยนอยู่แถว ๆ บ้าน ก็ลองเอาน้ำมันกลิ่นแรง ๆ ไปราดไว้บริเวณรอบ ๆ บ้าน ก็จะช่วยไล่งูให้หนีไปทางอื่นได้ (เคยมีรายการโทรทัศน์ รายการหนึ่งเคยทดลองเรื่องนี้มาแล้ว ปรากฏว่า งูเลื้อยหนีกลิ่นน้ำมันรถยนต์)
4. เลี้ยงสุนัข : สุนัขจะช่วยเป็นหูเป็นตาให้เราได้เป็นอย่างดี หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ แค่สุนัขส่งเสียงเห่า ก็ทำให้งูตกใจและหนีไปเอง แต่หากเป็นงูขนาดใหญ่ สุนัขก็อาจกลายเป็นอาหารของงูได้
5. เลี้ยงห่าน : ข้อมูลจากเว็บบอร์ดหลายๆแห่ง ระบุว่า คนที่เลี้ยงห่านจำนวนมากยืนยันว่า ตั้งแต่เลี้ยงห่านก็ไม่ได้เห็นงูในบ้านอีกเลย จะมีเห็นก็แค่ตอนที่ห่านกินงู นอกจากนี้มีหลายคนเชื่อว่างูไม่ถูกกับกลิ่นขี้ห่าน บ้างก็ว่าเสียงร้องของห่าน
6. ติดแผ่นกันงู : เป็นอุปกรณ์สำหรับติดไว้ที่ผนัง หรือเสาไฟ เพื่อดักไม่ให้งูเลื้อยผ่าน เพราะแผ่นกันงูทำจากพลาสติกที่มีความลื่นสูงจนงูไม่สามารถเลื้อยขึ้นไปได้
7. ตาข่าย : การติดตั้งตาข่ายในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นทางเดินของงู เพื่อเข้าสู่ตัวบ้าน ก็จะช่วยดักงูไว้ได้ โดยตาข่ายที่นำมาติดตั้งนั้น ควรเลือกที่มีตาชิด ให้งูไม่สามารถลอดผ่านได้ หรือใช้ตาข่ายดักปลา (มอง) แทนก็ได้  งูก็จะติดอยู่กับตาข่าย ไม่เลื้อยเข้าไปในบ้าน
8. ผงกำมะถัน : หลายบ้านนิยมใช้กำมะถันผสมน้ำแล้วราดรอบบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันงู เนื่องจากเชื่อว่ากลิ่นฉุนของกำมะถันจะทำให้งูเลี่ยงไปทางอื่น แต่วิธีนี้ต้องทำบ่อยหน่อย อย่างน้อย เดือนละครั้ง เพราะกำมะถันเจือจางแล้วงูก็เข้าอีก

วิธีแก้ปัญหา เมื่องูเข้าบ้าน
1.สังเกตและแยกแยะประเภทของงู : พยายามสังเกตให้ดีว่า งูที่เลื้อยเข้ามาในบ้านเป็นงูมีพิษหรือไม่มีพิษ โดยงูพิษที่พบบ่อย เช่น งูเห่า จะแผ่แม่เบี้ย, งูสามเหลี่ยม มีลำตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม, งูเขียวหางไหม้และงูกะปะมีลักษณะแก้มป่อง ตัวสั้น มีเกล็ดละเอียด เป็นต้น ส่วนงูไม่มีพิษ เช่น งูเหลือม งูหลาม จะมีอันตรายโดยการรัดเหยื่อ ดังนั้น การหลบหลีก หรือจับก็จะแตกต่างกัน และต้องได้รับการฝึกฝนเป็นการเฉพาะ
2. อยู่นิ่ง ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ : งูจะตกใจหากมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หรือมีคนไล่ งูจะพุ่งฉกหรือกัดเหยื่อที่เคลื่อนไหว ดังนั้น ให้ยืนนิ่ง ๆ หรือค่อย ๆ ขยับถอยหลังช้า ๆ โดยจับตามองความเคลื่อนไหวของงูเอาไว้ด้วย ที่สำคัญต้องเว้นระยะห่างให้ปลอดภัยจากการโดนฉก (งูเห่า มักจะยกหัวสูงและสามารถพุ่งถลามาถึงตัวเราได้เกินกว่าระยะที่เราคิดว่าปลอดภัย)
3. อย่าไล่หรือทำร้าย : อย่าไล่หรือทำร้ายงูด้วยตัวเอง เพราะหากมีการไล่หรือทำร้าย งูอาจตกใจจนหนีหายไปซุกซ่อนอยู่ในมุมอับที่ทำให้หาไม่เจอ หรืออาจพุ่งตัวเข้าฉกทันทีจนเกิดอันตรายได้ อีกทั้งยังเชื่อกันว่ากลิ่นเลือดและสารบางอย่างในตัวงู จะทำให้เรียกสมัครพรรคพวกงูเข้ามาเสริมทัพได้ด้วย ดังนั้น จึงห้ามตีงูจะดีกว่า
4. กันสมาชิกในบ้านให้อยู่ห่างงู : ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมาเอาไว้ให้ห่าง เพราะอาจโดนฉกหรือทำร้ายได้ และ อาจจะเป็นการไล่งู ก่อนที่เจ้าหน้าที่ (หรือผู้เชี่ยวชาญ) จะไปถึง
5. แจ้งขอความช่วยเหลือ : โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อมาจับงูออกจากบ้านไป เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่มีความชำนาญมากพอที่จะจับงูต่าง ๆ ออกจากบ้านไปได้โดยไม่ทำอันตรายคนในบ้าน [องค์การสวนสัตว์ โทร. 02 282 7111 ต่อ 3 หรือ 191 หรือแจ้งความช่วยเหลือกู้ภัย 199]
6. เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน : เพราะมนุษย์นั้นไม่ใช่เหยื่อโดยธรรมชาติของงู หากเราไม่ทำร้ายงูก่อน งูก็จะหลีกเลี่ยงไม่ทำร้ายมนุษย์เช่นกัน

เรียบเรียงจาก 
1. http://home.kapook.com/view65807.html
2. http://men.sanook.com/2202/วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน

ภาพประกอบจาก
1. อินโฟกราฟฟิกจาก Kapook.Com : http://img.kapook.com/u/narongsak/info-snake.png
2. ภาพงูใหญ่สีดำที่กำลังเลื้อยเข้าบ้าน มีการแชร์ใน SocialMedia (รออ้างอิง ขอบคุณเจ้าของภาพไว้ ณ โอกาสนี้)

Exit mobile version