Objective Key Result (OKRs) คือ การตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จของบุคคลในองค์กร โดยระบบนี้ จะทำให้บุคลากรทุกคนในองค์กรทราบวิธีการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้องค์กรก้าวไกลไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย
1.การกำหนด objective หรือวัตถุประสงค์หลัก ที่เราต้องการทำให้สำเร็จ มีไว้เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกอยากบรรลุความสำเร็จ มากกว่าการวัดผลของความสำเร็จ
2.การกำหนด key result หรือผลลัพธ์หลัก ที่จะวัดเพื่อให้รู้ว่า เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้ง
1.การกำหนด objective เป็นการกำหนดรายไตรมาส หรือทุก 3 เดือน (ไม่ใช่รายปีเหมือน KPI) ส่วนการวัดผล key result จะต้องมีกรอบเวลาที่แน่ชัด และสามารถประเมินผลได้ อาจจะวัดเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน (เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งมีกำหนดเวลาแค่ 3 เดือน)
2.การกำหนด objective ไม่ต้องเยอะ ประมาณ 3-5 ข้อ รวมทั้งการกำหนด key result ด้วย ประมาณ 3 ข้อ ต่อหนึ่ง objective โดย key result จะกำหนดตามหลักการ SMART Goal ได้แก่
– Measurable :: ต้องวัดผลได้ อยู่ที่ 0–100%
– Achievable :: สามารถทำได้ (ไม่ตั้งเป้าเวอร์จนเกินตัว)
– Relevant :: มีความสอดคล้องกับ Objective ที่เราตั้งไว้
– Time-bound :: มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับ OKR จะสิ้นสุดทุกๆ Quarter (3 เดือน)
3.การกำหนด objective จะกำหนดจากระดับองค์กรลงมาสู่หน่วยงานและพนักงาน โดยต้องให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนด อย่างน้อย 50% จะเป็นลักษณะผสมผสานระหว่าง top down และ bottom-up approach เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
4.OKRs ยืดหยุ่นได้เมื่อมีปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องปรับ OKR ก็ปรับตามได้
5.การกำหนดเป้าหมายตาม OKR จะตั้งไว้ที่ 60-70% ไม่ใช่ 100% เหมือนที่เราคุ้นเคย เหตุผลที่ตั้งไม่ถึง 100% ก็เพื่อให้พนักงานมีแรงขับ เพื่อจะทำให้ได้ดีกว่าเป้าหมายตลอดเวลา
6.การกำหนด OKR ทำเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา ไม่ใช่เพื่อการให้รางวัล การวัดผลทำเพื่อการพัฒนา (ทั้งองค์กร หน่วยงาน และพนักงาน) ค่าตอบแทน หรือรางวัลจะตามมาเอง
ตัวอย่าง การออกแบบการจัดการศึกษา โดยใช้แนวคิดหลักการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ (OKR – Objective Key Result) ตามบริบทของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
PCSHSBR Objective : ครูมีความเป็นเลิศทางวิชาชีพ นักเรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ
PCSHSBR Key Result1 : ครูร้อยละ 60 มีผลงานจากการจัดการเรียนรู้หรือการเผยแพร่ผลงานในเวทีวิชาการระดับชาติขึ้นไป
PCSHSBR Key Result2 : นักเรียนร้อยละ 80 มีผลงานความเป็นเลิศทางวิชาการระดับชาติขึ้นไป อย่างน้อย 1 รายการ
PCSHSBR Key Result3 : ผู้บริหารสถานศึกษา มีนวัตกรรมจากการนำ Objectives & Key Results (OKRs) ไปใช้ในการบริหารกลุ่มบริหารงาน
กระบวนการบริหารงาน ต้องเริ่มจากการอธิบายทำความเข้าใจให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด OKRs จากนั้นออกแบบวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งองค์กร โดยสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงวิธีการใช้ OKRs ก่อนการนำไปปฏิบัติ ซึ่งมีขั้นตอนหลัก 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นการตั้งวัตถุประสงค์ (Objectives)
1.1 ผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งวัตถุประสงค์หลักขององค์กร (ตามรายละเอียดข้างต้น)
1.2 รองผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มบริหารแต่ละกลุ่มบริหารงาน (กลุ่มวิชาการ, กลุ่มแผนงานและงบประมาณ, กลุ่มบริหารทั่วไป, กลุ่มกิจการนักเรียน) สร้างวัตถุประสงค์ของกลุ่มให้สอดคล้องกับข้อ 1.1
1.3 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ สร้างวัตถุประสงค์ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับข้อ 1.1 และ 1.2
1.4 ครูแต่ละคนสร้างวัตถุประสงค์ของตนเองขึ้นมา และให้สอดคล้องกับข้อ 1.1, 1.2 และ 1.3
2. ขั้นการหาผลลัพธ์หลัก (Key results) โดยรองผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มบริหาร หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ และครูแต่ละคน ระบุผลลัพธ์หลัก (Key results) ที่สามารถวัดผลได้ง่าย มีค่าเป้าหมายที่ชัดเจน
3. ขั้นการประเมินผลความสำเร็จ (Evaluation) ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องประเมินผลความสำเร็จทุกไตรมาส หากไม่ถึงเป้าหมายก็หาวิธีการแก้ หากสำเร็จแล้วก็เปลี่ยน OKRs ที่ท้าทายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
หมายเหตุ : นายศักดิ์อนันต์ นามสกุล อนันตสุข ผอ.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ สรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับ แนวคิดการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ (OKR – Objective Key Result) จากการอบรมที่โรงเรียนอาร์คกิ (Arkki) [โรงเรียนหลักสูตรการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ชั้นนำระดับโลกจากกระทรวงศึกษาของประเทศฟินแลนด์ สำหรับเด็กและเยาวชนอายุ 4-19 ปี]