Anantasook.Com

[แนะนำ] วิธีสอนให้ลูกรักการอ่าน ฝึกการอ่านควรเริ่มต้นเมื่อไหร่ ทำอย่างไรให้ลูกชอบอ่านหนังสือ

child-love-readพ่อแม่ทุกคนรู้ว่า การอ่านหนังสือมีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกมาก หนังสือคือ แหล่งความรู้ที่จะช่วยเสริมปัญญาและสร้างจินตนาการให้เด็ก แต่ในยุคที่อินเตอร์เน็ตและบรรดาเกมคอมพิวเตอร์กำลังครองโลกอยู่อย่างทุกวันนี้ เด็กส่วนใหญ่นั้นจะอ่านหนังสือก็ต่อเมื่อถูกพ่อแม่บังคับเท่านั้น ไม่ใช่อ่านด้วยความเต็มใจหรือเพราะรักการอ่าน ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ และคุณจะมีส่วนช่วยฝึกฝนให้ลูกของคุณรักการอ่านหนังสือได้หรือไม่?

ถ้าคุณต้องการสอนให้ลูกรักการอ่านหนังสือ คุณจะต้องเริ่มในเวลาและสภาพที่เหมาะสม พ่อ-แม่ส่วนใหญ่เมื่อกลับมาจากที่ทำงานก็มักจะเครียด และเหนื่อยจนแทบจะหมดแรงและต้องการเวลาพักผ่อนให้เร็วที่สุด ดังนั้น จึงมักจะสอนการบ้านให้ลูกแบบลวกๆ หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนแบบผ่านๆ วิธีนี้ ดูเหมือนเป็นภาระหน้าที่ที่พ่อ-แม่ต้องจำใจทำให้ลูก ถ้าลูกไม่เห็นว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องเพลิดเพลินใจ ก็ยากที่เขาจะโตขึ้นมาเป็นคนชอบอ่านหนังสือได้ นอกจากมีสภาพแวดล้อมที่จูงใจแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ความเข้าใจ ถ้าเด็กเข้าใจว่าหนังสือคือสื่อที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่เขาสนใจ เขาก็จะอยากอ่านมากขึ้น

ควรเริ่มเมื่อไร
ยิ่งเริ่มได้เร็วที่สุดเท่าไรก็ยิ่งดี ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็กบอกว่า คุณสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ เพราะเด็กทารกในท้องแม่มีความรู้สึกตอบรับเสียงและคำพูดได้ ดังที่มีคำกล่าวว่า “1 ภาพให้ความหมายมากกว่า 1,000 คำ” ดังนั้น ก่อนที่ลูกของคุณจะเริ่มหัดอ่าน ก ข ค หรือเอ บี ซี เขาก็สามารถเริ่มต้นด้วยการฝึกดูหนังสือเด็กที่เต็มไปด้วยภาพประกอบที่มีสีสันสวยงามและน่าสนใจ”

เริ่มต้นช้าๆ แต่สม่ำเสมอ
เมื่อลูกเพิ่มพูดได้ พ่อ-แม่สามารถฝึกหัดให้ลูกทำความคุ้นเคยกับหนังสือได้ทันที เช่น ชี้ให้ลูกดูภาพต่างๆ แล้วให้เขาลองบอกว่ารูปที่ดูอยู่คืออะไร การดูหนังสือพร้อมกับลูกในช่วงนี้จะช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและความผูกพันระหว่าง พ่อ-แม่-ลูกได้เป็นอย่างดี

ช่วงเวลาก่อนเข้านอนเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการอ่านหนังสือร่วมกับลูก เด็กจะรู้สึกผ่อนคลายหลังจากเหนื่อยมาจากโรงเรียนและการวิ่งเล่น การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง 10-15 นาที ก่อนจะเข้านอนทุกวัน เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กเริ่มสนใจการอ่านหนังสือได้ พ่อ-แม่อาจจะจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับให้ลูกไปเลือกซื้อหนังสือที่ตนเองชอบอ่าน เมื่อถึงโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด หรือเมื่อเขาสอบได้คะแนนดีตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ การที่เด็กมีอิสระที่จะได้เลือกหนังสือตามใจตัวเอง เช่น หนังสือเกี่ยวกับสัตว์ อวกาศ เครื่องยนต์ หรือ กีฬา ฯลฯ จะช่วยกระตุ้นให้เขารักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก อย่างไรก็ดี ขณะที่ลูกกำลังเลือกหนังสือเล่มโปรดนั้น พ่อ-แม่ต้องช่วยดูแลและร่วมตัดสินใจด้วย เพราะลูกอาจจะเลือกหนังสือที่ง่ายเกินไป ไม่เหมาะกับวัยหรืออาจจะยากเกินไปจนอ่านไม่รู้เรื่อง ก็อาจเป็นได้

เลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก
โดยทั่วไปแล้ว เด็กๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือ เนื่องจากว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องที่อ่านก่อน เขาจึงจะรู้สึกเพลิดเพลินกับการอ่านได้ เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการอ่านและทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่อ่านได้ไม่เท่ากัน แต่นั้นไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องกังวลจนเกินไป ลองใช้หลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับวัยของลูก ดังนี้
-วัยแรกเกิด – 6 ขวบ : หนังสือควรจะประกอบไปด้วยการ์ตูนและรูปภาพ ตัวหนังสือและภาพต้องใหญ่และชัดเจน คำศัพท์และเนื้อเรื่องต้องเข้าใจง่าย
-วัย 7 – 10 ขวบ : ตัวหนังสือขนาดปกติ มีภาพประกอบที่เหมาะสม เนื้อเรื่องควรแฝงข้อคิดและบทสอนใจบ้าง เช่น ความกตัญญูต่อพ่อ-แม่และผู้มีพระคุณ ความเมตตา หรือศีลธรรมอันดี เป็นต้น
-วัยรุ่น12-17 ปี : ตัวหนังสือขนาดปกติ มีภาพประกอบเพียงเล็กน้อย ในช่วงวัยนี้ สามารถอ่านหนังสือและทำความเข้าใจเนื้อเรื่องเองได้แล้ว พ่อ-แม่ควรเลือกหาหนังสือดีๆ ไม่มีพิษภัยให้ลูก ซึ่งอาจจะเป็นแนวนวนิยายหรือแนวทั่วไปที่จะช่วยเสริมความรู้และจินตนาการให้ลูกก็ได้

วิธีอ่านหนังสือแบบประหยัด
-ห้องสมุดคือศูนย์รวมหนังสือฟรีจำนวนมหาศาลที่ไม่มีวันหมด แต่ถ้าลูกคุณอ่านหนังสือในห้องสมุดเป็นประจำจนเบื่อแล้ว ให้พาเขาไปห้องสมุดแห่งอื่นๆ
-ซื้อหนังสือมือสอง ราคาอาจจะถูกลงมาถึง 50% หรือมากกว่านั้น
– ร้านหนังสือขนาดใหญ่หลายแห่ง มีมุมอ่านหนังสือสำหรับเด็กๆ และพ่อ-แม่ เมื่อคุณต้องไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ลองปลีกเวลาพาลูกเข้าไปเดินดูหรือลองอ่านหนังสือตามมุมที่ร้านจัดให้ วิธีนี้ลูกของคุณจะเริ่มคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือมากมายตั้งแต่เขายังเล็กๆ
– แนะนำให้ลูกแลกเปลี่ยนหนังสือกับเพื่อนๆ แต่ต้องไม่ลืมสอนให้เขารู้ว่าเขาต้องดูแลหนังสือของเพื่อนๆ ให้ดี ห้ามตัดหรือฉีกหนังสือที่ยืมมาจากผู้อื่นเด็ดขาด
-หนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์และอาทิตย์มักจะมีภาพพิเศษสำหรับเด็ก เช่น การ์ตูน เกมฝึกสมอง หรือความรู้รอบตัว พ่อ-แม่ควรเก็บส่วนนี้ไว้ให้ลูกอ่านและควรฝึกให้เขาตัดเรื่องทีสนใจเก็บสะสมไว้ในสมุดส่วนตัวด้วย

ที่มา : นิตยสารคู่สร้าง-คู่สม ปีที่ 28 ฉบับที่ 578

Exit mobile version