ฟ้าทะลายโจร พฤกษศาสตร์ฟ้าทะลายโจร การปลูกฟ้าทะลายโจร การดูแลรักษาฟ้าทะลายโจร สารเคมีในฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร  (Kariyat, The Creat)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees

ชื่อสามัญ : Kariyat , The Creat

วงศ์ : ACANTHACEAE

ชื่ออื่น : หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ)  ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 30-70 ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี 2 กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เมื่อต้นมีอายุประมาณ 3-5 เดือน ใช้ได้ทั้งต้น ใบสด และใบแห้ง

สายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรที่นำมาปลูกมี 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ สายพันธุ์จาก อ.กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นสายพันธุ์ที่ให้ค่าน้ำหนักสดเฉลี่ยต่อต้นสูงสุด นอกเหนือจากนี้ก็มีสายพันธุ์จากระยอง และสายพันธุ์จากศรีสะเกษ

เทคนิคการปลูกและการดูแลรักษาฟ้าทะลายโจร

1.การเตรียมการก่อนปลูก

1.1 การเตรียมดิน โดยการขุดหรือไถพรวนเพื่อให้ดินร่วนซุย และตากดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงทำการไถแปร และปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก

1.2 การเตรียมพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ใช้เมล็ดจากฝักแก่จัด เมล็ดต้องมีสีน้ำตาลแดง ลักษณะสมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลง เนื่องจากเมล็ดมีเปลือกแข็ง ก่อนปลูกแช่เมล็ดในน้ำที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 6-12ชั่วโมง เพื่อให้น้ำซึมผ่านเมล็ดและเมล็ดสามารถงอกได้

การปลูกฟ้าทะลายโจร สามารถปลูกด้วยเมล็ดหรือต้นกล้า มี 4 วิธี คือ

1. นำเมล็ดผสมทรายหยาบอัตรา 1:1-2 ส่วน แล้วหว่านในแปลงปลูก
2. โรยเมล็ดเป็นแถวแนวขวาง แต่ละแถวห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยดินบาง ๆ
3. เพาะต้นกล้าในถาดเพาะ แล้วย้ายกล้ามาปลูกในแปลง เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน
4. เพาะต้นกล้าในแปลง การเตรียมแปลงเพาะต้นกล้าใช้วิธีเดียวกับการทำแปลงปลูก โดยรองพื้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

3. การดูแลรักษา

3.1 การใส่ปุ๋ย แบ่งใส่เป็นระยะ ดังนี้ อายุ 60 วัน ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 125 กรัมต่อต้น หรือ 300 – 400 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร และเมื่ออายุ 90 – 110 วัน ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 300 – 500 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยวิธีการหว่านให้กระจายสม่ำเสมอกัน หลังหว่านปุ๋ยแล้วต้องรดน้ำทันทีอย่าให้ปุ๋ยค้างที่ใบ

 3.2 การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง ตั้งแต่ปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ในช่วงที่มีแดดจัดหรือหน้าร้อนควรรดน้ำ 2 ครั้งต่อวัน ทั้งเช้าและเย็น หากมีแดดไม่จัดมาก รดน้ำวันละครั้งเฉพาะช่วงเย็นก็ได้ เมื่อต้นอายุประมาณ 2 เดือนสามารถลดการให้น้ำได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

3.3 การป้องกันและแก้ไข ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช โรคฟ้าทะลายโจร ได้แก่ โรคโคนเน่าและรากเน่า เกิดจากเชื้อรา หากพบให้ถอนทำลายทันที โรคแอนเทรคโนส พบตรงกลางหรือปลายใบ หากพบให้ตัดส่วนที่เป็นโรคทิ้ง (โรคที่เกิดขึ้นกับฟ้าทะลายโจรนั้น ไม่พบว่าทำความเสียหายขั้นรุนแรง)

แมลงศัตรูฟ้าทะลายโจร ไม่พบแมลงชนิดใดที่ทำความเสียหายรุนแรง อาจพบหนอนผีเสื้อได้บ้าง ก็สามารถจับไปทำลายทิ้งได้

4. การปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

– เก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชออกดอกตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน 50% ซึ่งพืชจะมีอายุประมาณ 110 – 150 วัน เป็นช่วงที่มีสารสำคัญสูง โดยพบมากที่ส่วนยอดและใบ

– วิธีการเก็บเกี่ยวให้ตัดทั้งต้น ให้เหลือตอสูงประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร เพื่อให้เจริญให้ผลผลิตต่อไป ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือนจึงสามารถเก็บเกี่ยวได้อีกครั้ง

– การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว นำไปคัดแยกสิ่งปลอมปน เช่น วัชพืชที่ปะปนมาและล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร ผึ่งให้แห้ง ทำแห้งโดย ตากแดดบนลานตากยกพื้นมีวัสดุรองรับที่สะอาด หรือใช้เครื่องอบแห้งแบบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ใน 8 ชั่วโมงแรก และลดอุณหภูมิเหลือ 40 – 45 องศาเซลเซียส อบต่อจนแห้งสนิท

5. ข้อมูลอื่นๆ

สารสำคัญออกฤทธิ์ มีสารสำคัญประเภท ไดเทอร์ฟีน แลคโตน (diterpene lactones) ได้แก่ แอนโดรการโฟไลด์ (andrographolide) มีฤทธิ์ลดไข้และต้านอักเสบ และ ดีออกซีแอนโดรการโฟไลด์ (deoxyandrographolide) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของท้องร่วง มาตรฐานของฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในการผลิตยาจะต้องมี andrographolide ไม่น้อยกว่า 6% โดยน้ำหนัก

ที่มาของข้อมูล :
1. กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. https://www.kubotasolutions.com/knowledge/plants/detail/721

 



Leave a Comment