[CBSEL วันที่ 17 เช้า] บรรยาย การวางแผนพัฒนาโรงเรียน ความสำคัญของแผนพัฒนาโรงเรียนจีน (14 พ.ย. 2560; SAKANAN)

ชื่อวิชา การวางแผนพัฒนาโรงเรียน
วิทยากร ศาสตราจารย์หยู๋ เจ๋อ หยวน (รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีหนาน)
E-mail : 786449337@qq.com
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น.

๑. สาระสำคัญของวิชานี้ คือ :
การวางแผน หมายถึง ความคิดและการออกแบบแผนการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบ มีความครอบคลุมระยะยาว, มีผลในอนาคต, และมีการดำเนินการ โดยแผนการพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้พัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพครอบคลุมทุกด้าน จะมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ มีการบูรณาการ, ประสานงาน, คาดการณ์ล่วงหน้า, ปฏิบัติได้จริง, เป็นเอกลักษณ์พิเศษของโรงเรียน

ความสำคัญของแผนพัฒนาโรงเรียน ได้แก่ มีการส่งเสริมอุดมการณ์ในการพัฒนาโรงเรียน (ผอ. อาจจะเน้นสภาพจริงในการปฏิบัติงานจนลืมทฤษฎีการปฏิบัติงาน), ส่งเสริมการพัฒนาแบบองค์รวมของโรงเรียน (เป็นองค์รวม), ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน (มีแนวคิดปรัชญาสำหรับสนับสนุน), ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน, การสร้างและเผยแพร่โรงเรียนให้มีชื่อเสียง (สร้างแบรนด์ให้กับโรงเรียน)

แนวคิดเชิงระบบ ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียน
ระบบ คือ ความสามารถหลักขององค์กรในอนาคต แนวคิดเชิงระบบ เป็นการมองแบบองค์รวม เป็นกรอบแนวคิดที่ทำให้เราเห็นได้รอบด้าน มองเห็นลักษณะที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป แนวคิดเชิงระบบ จะช่วยปรับเปลี่ยนให้มองภาพแบบองค์รวม ปรับเปลี่ยนมุมมองในสถานการณ์ปัจจุบันโดยมองภาพไปยังอนาคต ทั้งนี้แนวคิดเชิงระบบจะทำให้เราสามารถวางแผนได้ดี เพราะ “วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะแข็งแกร่งแค่ไหน ทุกย่างก้าวต้องมีการวางแผน”

หัวใจของแนวคิดเชิงระบบ ได้แก่ (1) ศึกษาความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลลัพธ์มากกว่าผลโดยตรง, (2) ศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงแต่ละขั้นตอนมากกว่าการมองทีละเรื่อง ทั้งนี้ หากเรามองที่ผลลัพธ์มากเกินไป เราอาจพลาดกับผลที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

การคิดเชิงระบบของภาษา มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ, (2) ปรับเปลี่ยนข้อเสนอแนะของตนเอง (3) การขยายเวลา ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้น จะมีผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างไร และ “ในความเรียบร้อยจะมีปัญหาเล็กๆ ซ่อนอยู่ เราต้องค่อยๆแก้ไขทีละจุด ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โต”

สมมติฐานของระบบแนวคิดพื้นฐาน ได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมในการพัฒนาของโรงเรียนอดีตจนถึงปัจจุบัน, (2) ค้นหาสาเหตุ จุดแข็งของโรงเรียน, (3) ค้นหาสาเหตุต่อเนื่องของปัญหาอุปสรรค, (4) ค้นหาปัจจัยหลักของปัญหาเพื่อการพัฒนาจุดเริ่มต้น, (5) สาเหตุต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกันในการพัฒนาที่มีผลต่ออนาคต, (6) การพัฒนาโรงเรียนต้องคำนึงถึงระยะเวลา

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนและการบูรณาการ 7 มิติ ประกอบด้วย (1) การวางตำแหน่งการพัฒนาโรงเรียน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียนว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด (2) การกำหนดแนวคิดและปรัชญาของโรงเรียน (3) การสร้างหลักสูตรของโรงเรียนที่สัมพันธ์กับหลักสูตรของประเทศ (4) นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในการส่งเสริมการเรียนรู้ (5) ระบบการพัฒนาบุคลากรให้มีแนวคิดในการพัฒนาไปในทางเดียวกัน (6) การพัฒนาภาวะผู้นำในระบบการบริหาร โดยการสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่ดี (7) การจัดทำโครงการและการประชาสัมพันธ์โรงเรียนในรูปแบบต่างๆ

กลยุทธ์ในการวางตำแหน่งของโรงเรียน ได้แก่
1. ผู้นำ จะให้โรงเรียนเป็นผู้นำด้านใด เช่น โรงเรียน STEM โรงเรียนคุณธรรม
2. แนวคิด เช่น การให้นักเรียนเป็นคนดีต้องนำแนวคิดนี้ไปใช้
3. วัฒนธรรม ทำอย่างไรให้สามารถนำวัฒนธรรมมาพัฒนาหลักสูตรของตนเอง
4. ช่องว่าง (สิ่งที่โรงเรียนอื่นยังไม่มี เราจะทำให้มีขึ้น) อยู่ระหว่างโรงเรียนเด่น ต้องสร้างจุดเด่น
5. การเปรียบเทียบกับโรงเรียนหลัก และยอมใช้ชื่อในโรงเรียนสาขา
6. เอกลักษณ์ของโรงเรียนที่จะส่งให้โรงเรียนไม่เหมือนโรงเรียนอื่น
7. จุดสำคัญ เช่น โรงเรียนในมัธยมโดยเฉพาะจากการเรียนการสอนที่เน้นนวัตกรรม

๒. ประเด็นที่ท่านสนใจเป็นพิเศษ (ไม่เกิน ๒ ประเด็น)
๒.๑ ประเด็น : ยุทธศาสตร์การทำแผนพัฒนาโรงเรียนและการบูรณาการ ๗ มิติ
เหตุผล : แนวคิดการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนและการบูรณาการ ๗ มิติ เป็นแนวคิดของจีนที่น่านใจ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ ยุทธศาสตร์การทำแผนพัฒนาโรงเรียน ประกอบด้วย (๑) การวางตำแหน่งการพัฒนาโรงเรียน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียนว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด (๒) การกำหนดแนวคิดและปรัชญาของโรงเรียน (๓) การสร้างหลักสูตรของโรงเรียนที่สัมพันธ์กับหลักสูตรของประเทศ (๔) นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในการส่งเสริมการเรียนรู้ (๕) ระบบการพัฒนาบุคลากรให้มีแนวคิดในการพัฒนาไปในทางเดียวกัน (๖) การพัฒนาภาวะผู้นำในระบบการบริหาร โดยการสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่ดี (๗) การจัดทำโครงการและการประชาสัมพันธ์โรงเรียนในรูปแบบต่างๆ

๓. แต่ละประเด็น (ในข้อ ๒) มีประโยชน์กับงานของท่านหรือไม่? และจะนำไปใช้ได้อย่างไร?
๓.๑ ประเด็น : ยุทธศาสตร์การทำแผนพัฒนาโรงเรียนและการบูรณาการ ๗ มิติ
ประโยชน์กับงานและการนำไปใช้ : นำแนวคิดการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนและการบูรณาการ ๗ มิติ มาประยุกต์ใช้ โดยให้ความสำคัญกับ ๒ ข้อที่สำคัญ คือ (๑) การวางตำแหน่งการพัฒนาโรงเรียน ว่าจะสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นจุดขายให้กับโรงเรียนอย่างไร (๒) การพัฒนาบุคลากรให้มีแนวคิดในการพัฒนาไปในทางเดียวกัน และ (๓) การจัดทำโครงการที่ตอบโจทย์การวางตำแหน่งการพัฒนาโรงเรียน (เช่น โรงเรียนเน้นวัฒนธรรม โรงเรียนเน้นเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัย) และการประชาสัมพันธ์โรงเรียนในรูปแบบต่างๆ อย่างหลากหลาย ที่ทำให้ผู้ปกครองและชุมชนให้ถึงความใส่ใจของผู้บริหารสถานศึกษา เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนนำเกียรติบัตรนักเรียนที่มีผลการเรียนสูงสุดไปมอบให้ที่บ้านของนักเรียน เป็นต้น

หมายเหตุ : บันทึกประจำวันนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน (นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข) ในแต่ละวันขณะอบรมหลักสูตร Educational Leadership Training Programme for Thai School Leader ณ Southwest University สาธารณรัฐประชาชนจีน เท่านั้น อาจไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการ อ่านเป็นความรู้ได้ แต่ไม่ควรใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ



Leave a Comment