วPA เหตุผลเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ ผอ. ต้องมีชั่วโมงสอน 5 ชั่วโมง รอง ผอ. 10 ชั่วโมง Performance ของผู้บริหาร ว.23/2563

รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้กล่าวถึง ชั่วโมงการสอนของผอ. ว่าทำไมต้องกำหนดชั่วโมงปฏิบัติการสอนไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รองผอ.สถานศึกษา ปฏิบัติการสอนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และครู 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในวิดีโอ “Performance ของผู้บริหาร และที่มาของ “ตัวชี้วัดในการประเมินวิทยฐานะของผู้บริหาร ตามเกณฑ์ฯ ใหม่” เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ไว้ดังนี้

ทำไมเรากำหนดแบบนี้ มีเหตุผลเบื้องหลังครับ ตำแหน่งที่บอกว่าท่านต้องปฏิบัติการสอนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ในเจตนารมณ์จริง เราไม่ใช่อยากให้ท่านไปรับผิดชอบสอนเป็นวิชาๆ เหมือนครูครับ แต่ในความเป็นจริง เราอยากให้ท่านมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนกับคุณครู ในรูปแบบต่าง ๆ ท่านไปกำหนดเอง เช่น ท่านอาจจะสอนร่วมกับครูใน 1 ภาคเรียน ท่านอาจจะต้องไปนิเทศชั้นเรียนคุณครู สมมติ โรงเรียนท่านมีอยู่ 20 คนท่านอาจจะแวะเวียนไปสอนคู่กับเขา คนละชั่วโมงหรืออะไรก็แล้วแต่แล้ว แต่ท่านจะใช้กระบวนการนิเทศท่านจะเข้าไปร่วมเป็น Open Approach ในห้องเรียนนั้นเป็น Mentor เขาเป็นอะไรก็สุดแท้  

แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ “เราอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนเข้าห้องเรียนคุณครูบ้าง เข้าไปเห็นว่าห้องเรียนเป็นยังไงบ้าง เด็กมีสภาพยังไง คุณครูมีความลำบากในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง” และกรอบสำคัญที่นำมาเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเกณฑ์วิทยฐานะ ผอ. ใหม่ คือ เราสังเคราะห์แนวคิดที่จำเป็นสำหรับนักบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21

งานวิจัยจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า “สิ่งที่คุณครูคาดหวังจากผู้บริหารมากที่สุด คือ ความเป็นผู้นำทางวิชาการ” ซึ่งจะสะท้อนได้จาก การเป็นผู้นำการเรียนการสอน ที่สำคัญ คือ การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ในโรงเรียน โดยต้องโฟกัส 7 ประเด็น ซึ่งเป็นที่มาของ “ตัวชี้วัดในการประเมินวิทยฐานะของผู้บริหารตามเกณฑ์ฯ ใหม่ ดังนี้

บทบาทของผู้บริหาร วPA

  1. ต้องพยายามค้นหากระบวนการ วิธีการยกระดับผลลัพธ์ของผู้เรียนให้สูงขึ้น และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
  2. ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของหลักสูตร และคุณภาพของผู้เรียน
  3. ต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาสมรรถนะหลักของครู คือ ทักษะการจัดการเรียนการสอน
  4. เป็นผู้นำที่มีความเป็นโค้ช โดยต้องรู้สภาพของครู รู้จักวิธีการสอนของครู เข้าใจบริบทของห้องเรียน และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเด็ก
  5. มุ่งเน้นกระบวนการทำงานร่วมกับครูในการพัฒนาการศึกษา
  6. มีการใช้งานวิจัย หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและทดลองสิ่งใหม่ ๆ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนได้
  7. ต้องเป็นผู้นำในการระดมทรัพยากร สร้างพันธมิตรในการทำงาน เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงาน ก.ค.ศ.



Leave a Comment