เป็นครู ทำธุรกิจได้หรือไม่? ข้าราชการครูทำธุรกิจ ผิดวินัยหรือไม่ ระเบียบข้าราชการครู มาตรา 92 การทำธุรกิจของข้าราชการ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 2 มาตรา ดังนี้ 

มาตรา 92 : ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการ  หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท 

มาตรา 87 : ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้  การละทิ้งหน้าที่หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือ โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

โดยนัยของมาตราดังกล่าว หากเป็น “กรรมการผู้จัดการ  หรือผู้จัดการ” หรือ ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้น ใน “ห้างหุ้นส่วน” หรือ “บริษัท ย่อมไม่สามารถทำได้ และหากไม่ปฏิบัติตามจะผิดวินัยร้ายแรง แต่หากทำธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่จดทะเบียนเป็น “ห้างหุ้นส่วน” หรือ “บริษัท” ย่อมสามารถทำได้ (เช่น เปิดร้านค้าขายของในชุมชน, การขายของออนไลน์ ที่จดทะเบียนพาณิชย์เป็นร้านค้าธรรมดาในชื่อตนเองก็สามารถทำได้) แต่หากในเวลาราชการ มีการใช้เวลาไปทำธุรกิจส่วนตัวดังกล่าวข้างต้น จะมีความผิดตามมาตรา 87 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 (ตอบโดย มหาวิชาดอทคอม)

ขยายความมาตรา 92 (รายละเอียดตาม คู่มือการดำเนินการทางวินัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ)
มาตรานี้มุ่งเน้นห้ามข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามิให้เป็นตัวกระทําการ ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ เป็นสําคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการยึดการรับราชการเป็นอาชีพ โดยไม่มัวกังวลด้วยการแสวงหาประโยชน์ในทางอื่น

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 92
1. เป็นตัวกระทําการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
2. เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดํารงตําแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

คําว่า “ตัวกระทําการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท” ในที่นี้หมายถึงกรรมการผู้จัดการหรือ ผู้จัดการ หรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ส่วนคำว่า “ผู้ดํารงตําแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน” นั้น หมายถึงกรรมการ อํานวยการหรือผู้อํานวยการ เป็นต้น การเป็น “กรรมการบริหาร” หรือเป็น “ประธานกรรมการ” ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 92 นี้เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการที่ดํารงตําแหน่งได้ เข้าไป “จัดการ” หรือเป็น “ตัวกระทํา” ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทโดยตรงจึงจะต้องห้าม ซึ่งทั้งนี้ จะต้องพิจารณาจากหลักฐานการจดทะเบียนและหนังสือบริคณห์สนธิ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แล้วแต่กรณีอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

ตัวอย่างพฤติการณ์ความผิด
– เข้าไปเป็นตัวกระทําการในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (ภาคทัณฑ์)
– เป็นกรรมการอํานวยการหรือผู้อํานวยการแต่มีลักษณะงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ อย่างเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันกับกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการ (ภาคทัณฑ์)
– เป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และเป็นตัวแทนของบริษัททํานิติกรรม ในการซื้อขาย (ภาคทัณฑ์)

อนึ่ง การเป็นผู้จัดการมูลนิธิไม่เข้าข้อห้ามตามมาตรานี้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีคำถามคล้ายกันในลักษณะนี้ ดังนี้

1. ข้อมูลจากเว็บ ก.พ.
คำถาม
เป็นข้าราชการแล้วสามารถที่จะเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้หรือไม่ ผิดวินัยข้อไหนอย่างไร

คำตอบ
มาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 บัญญัติห้ามข้าราชการ เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้น ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ทั้งนี้ เนื่องจากทางราชการต้องการให้ข้าราชการอุทิศและทุ่มเทเอาใจใส่กับการทำงานให้แก่ราชการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หากใช้เวลาราชการไปในการดำเนินกิจการดังกล่าว อาจมีความผิดวินัยฐานทอดทิ้งหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 92 อีกฐานหนึ่งด้วย แต่ถ้าไม่ได้เข้าไปกระทำการในลักษณะดังกล่าว เช่น เป็นเพียงผู้ถือหุ้นหรือเป็นที่ปรึกษาโดยไม่ใช้เวลาราชการหรือตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนในลักษณะดังกล่าว ก็ชอบที่จะกระทำได้ อย่างไรก็ตาม กรณีจะเป็นการกระทำความผิดวินัยหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องเป็นกรณีๆไป

2. ข้อมูลจากเว็บมีชัยไทยแลนด์ ตอบโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์

คำถาม
ดิฉันเป็นข้าราชการครูชำนาญการ อยากทำธุรกิจร่วมกับชาวต่างชาติในการจัดหาครูชาวต่างชาติมาสอนในประเทศไทยโดยจะจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนร่วมกัน คำถามคือ

1. ดิฉันสามารถดำเนินธุรกิจนี้ร่วมกับชาวต่างชาติได้ไหมค่ะ
2. ดิฉันสามารถเป็นคณะกรรมการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนได้ไหมค่ะ
3. ดิฉันต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดหรือที่กระทรวงศึกษาธิการไหมค่ะ

คำตอบ (เมื่อ 3 ตุลาคม 2555) 

1. ทำน่ะทำได้ แต่ถ้าจะไปเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือเป็นผู้อำนาจบริหาร ก็ต้องระวังเรื่องวินัยไว้ด้วย
2. ดูข้อ 1.
3. จะมัวไปฟังคนอื่นอยู่ทำไม เมื่อเป็นครู ก็ต้องไปเปิดดูกฎหมายว่าด้วยครู ว่าเขากำหนดเรื่องวินัยไว้ว่าอย่างไรบ้าง ความรู้ไม่ว่าจะสาขาอะไร หากรู้ไว้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่ลูกศิษย์เสมอ สมัยก่อนอาจลำบากเพราะไม่รู้จะไปค้นดูที่ไหน แต่สมัยนี้เข้าไปดูในอินเตอร์เนท เขามีกฎหมายทุกชนิดให้เปิดดูได้ คนตอบคำถามนี้ก็ไม่ได้จำกฎหมายได้ทั้งหมดหรอก เมื่อเวลาชาวบ้านถามมา ก็ต้องเข้าไปเปิดตรวจสอบดูให้แน่ใจเสียก่อน สำหรับคุณครูนั้น ถ้าไปเปิดตรวจให้ ครูก็จะได้แต่สิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง ไม่ได้ความรู้จากต้นตอ จึงต้องให้ไปเปิดดู ในหมวดว่าด้วยจรรยาบรรณหรือวินัยของครู



Leave a Comment