[หัวอกครู] กศจ. ศูนย์อำนาจใหม่ ที่ห่างไกลจากคนเป็นครู ความกังวลใจใน กศจ. และ กศจ. ควรเป็นอย่างไร

Sak-Ananหลังจากที่มีการยุบ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และมีองค์คณะใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนในชื่อ “กศจ., คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (โดยมีการลงนามแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ให้องค์คณะดังกล่าวปฏิบัติงานในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ 3 เดือน และจะมีการสรรหา กศจ. ชุดใหม่ต่อไป) ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูหลายท่าน และหลายพื้นที่ถึงการมาของ กศจ. … น่าแปลกตรงที่ทุกเสียงมองว่า “หลักการดี” แต่ … “อาจจะแย่กว่าเดิม” เพราะเหตุผล ดังนี้

(1) คนนอกเข้ามามีส่วนกับการศึกษามากเกินไป คนเหล่านั้นจะรู้เรื่องการศึกษาดีเพียงพอหรือไม่ (แม้ว่าโดยหลักการ เราก็ยอมรับว่า การที่ผู้มีส่วนได้เสียกับการศึกษาเหล่านั้น ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาของจังหวัด น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในทางที่ดีขึ้นได้ แต่บางเรื่องคนที่ไม่ใช่ครู/ไม่ใช่ผู้บริหาร ก็ไม่รู้และไม่เข้าใจ) 

(2) พื้นที่ของอำนาจหน้าที่ใหญ่กว่าเดิม (อดีต ส.ส. ท่านหนึ่งเคยปราศัยว่า … ชอบเลือกตั้งเขตใหญ่ เพราะเขตเดียวเบอร์เดียว พื้นที่เล็ก งบประมาณน้อย เขตใหญ่งบเยอะกว่า … ทั้งๆที่ในมุมประชาชนแล้ว เขตเล็กประชาชนกับ ส.ส.ใกล้ชิดกันมากกว่า แต่ ส.ส.มองที่รายได้ที่จะได้เมื่อเขตใหญ่ขึ้น) ดังนั้น คนที่เป็น กศจ. จะมีอำนาจหน้าที่และบารมีเยอะ กว้างกว่าเดิม ถ้าได้คนดีก็ดี ถ้าได้คนไม่ดีก็จะได้มาเฟียในวงการศึกษาเลยล่ะ

(3) เข้าถึงยากกว่าเดิม แต่เดิมคนในพื้นที่จะรู้ว่าใครเป็นใครใน อ.ก.ค.ศ. แต่อันใหม่คนนอกเยอะไป ไม่รู้เลยว่า ในองค์คณะใหม่เป็นใครกันบ้าง …สิ่งที่จะตามมาคือ คนที่ใกล้ชิด เข้าถึงคนใน กศจ. จะได้ประโยชน์ และจะมีผู้อ้างตัวว่ารู้จักกับคนใน กศจ. เพิ่มขึ้น ทั้งๆที่อาจไม่รู้จักใครสักคนก็ได้ หรืออาจจะมีนายหน้าทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ กศจ. จริงๆ ชนิดที่ครูผู้น้อยก็รับกรรมต่อไป

(4) กศจ. มีตัวแทนครูในท้องถิ่น แต่ไม่มีตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาในท้องถิ่น ในการประชุมที่มีแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ เสียงของครูเบาเกินไปจนอาจไม่มีความหมาย เรื่องนี้ควรเปิดโอกาสให้มีผู้แทนจาก ผอ. โรงเรียนในองค์คณะนี้ด้วย น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม

(5) รายชื่อ กศจ. บางแห่ง ก็เหล้าเก่าในขวดใหม่ บางคนมี “ข้อครหา” ในเรื่อง “ไม่ดีไม่งาม” แต่ก็อยู่ในองค์คณะใหม่นี้ด้วย … แถมแต่ก่อนอยู่ในเขตเล็กๆ ตอนนี้เขตใหญ่ขึ้นกว่าเดิมซะด้วย

บทสรุปของเรื่องนี้คือ ก็หวังว่า

(1) ผู้แทนครูใน กศจ. ที่ได้รับการสรรหา (ท่านคือผู้แทนที่สำคัญของครู) ท่านจะต้องทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เป็นเพียงตรายางในประเด็นสำคัญต่างๆเท่านั้น

(2) หวังให้ผู้แทนครูใน กศจ. ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตและซื่อตรงต่อคนในวิชาชีพครูและผลประโยชน์ของนักเรียน

(3) ครูดีที่มีใจซื่อตรง และมีพฤติกรรมที่น่าไว้วางใจ ต้องอาสาตนเองออกมาทำหน้าที่นี้ในทุก กศจ. มากกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูที่ถนัดเรื่องใช้เงิน วิ่งเต้นและเกมการเมือง (กรณีที่มีการเลือกตั้งและใช้วิธีที่ไม่ซื่อตรง)

(4) ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ อย่ากลัวการเลือกตั้งมากเกินไป ให้ครูได้เลือกบ้าง ผู้แทนครูควรมาจากการเลือกของครู 1 คน ผนวกการสรรหาอีก 1 คน ก็เป็นทางออกที่ไม่อึดอัดเกินไป

(5) กำหนดให้มีผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษา ใน กศจ. (หรือกำหนดให้ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาจาก ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดนั้นๆ)

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะตัดสิน กศจ. ว่าดีหรือไม่ดีกว่าเดิมอย่างไร เพราะผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านใน กศจ. ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในสาขาต่างๆ อย่างหลากหลาย จึงน่าจะสามารถบูรณาการการดำเนินการและนำพาการศึกษาในจังหวัดให้เจริญก้าวหน้าได้ ข้อเขียนข้างต้นเป็นเพียงการประมวลมุมมอง ความคิดของครูกลุ่มหนึ่งที่มีต่อ กศจ. ที่ผู้เขียนได้รับมาจากการพบปะพูดคุยกับท่านต่างๆ เหล่านั้นเท่านั้น และโดยส่วนตัวก็หวังว่า กศจ. จะสามารถนำการเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมการศึกษาไทย ทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จได้

เขียนโดย : นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข 



2 Comments

  1. ครูเต้ ภูพาน says:

    มีมุมมองที่คล้ายๆ กันครับ เพราะจากประสบการณ์ที่ได้รับรู้มา ก่อนหน้านี้ กรรมการ กศจ. โดยตำแหน่ง ก็ได้ตำแหน่งมาโดยมิชอบ ฉะนั้นครูเราจึงยังมีความคลางแคลงต่อ กศจ. ที่แต่งตั้งมา แต่ยังไง ก็จะขอดูผลงาน และการทำงานของ ท่านคณะกรรมการดูก็แล้วกันครับ

  2. (1) ขอเสริมประเด็นตัวแทนครูในกศจ. ควรมีทั้งครูปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องคุณภาพการศึกษาครบถ้วนทุดช่วงวัยของผู้เรียนครับ

    (2) ควรมี อ.กศจ.ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ อกคศ.ตามเขตพื้นที่ และรร.สังกัดต่างๆ โดยมี ศธ.จ.และรอง อยู่ในทุกคณะของ อกศจ.นั้นๆ เช่น อ.กศจ.ของ สพม. สพป. อาชีวะ กศน. อปท. สช. … และไม่ควรให้มีการโอนถ่ายครูข้ามสังกัดอย่างอิสระแต่ควรมีการกลั่นกรองเป็นพิเศษเฉพาะกรณี โดยคำนึงถึงความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ความถนัด และความเหมาะสมตามหลักวิชาในทุกกรณีการเกลี่ยตำแหน่งหรือย้ายหรือบรรจุครู

    (3) กศจ.ควรมีบทบาทหน้าที่หลักในการกำหนดแนวทางและนโยบายระดับพื้นที่จังหวัดจากนโบายหลักระดัยชาติ/ ภูมิภาค โดยใช้ผลจากการประเมินคุณภาพภายนอกอิงพื้นที่/ถิ่นฐาน(ABA) และควรมีการถ่วงดุลอำนาจจากสภา/สมัชชาครูและผู้บริหารการศึกษาจังหวัด ตามหลักธรรมาภิบาล

Leave a Comment