[แนะนำ] พิธีขึ้นบ้านใหม่ ขั้นตอนพิธีสงฆ์ งานขึ้นบ้านใหม่ ประสบการณ์เตรียมงานพิธีสงฆ์ วันขึ้นบ้านใหม่

Buddhism-traditionหลังจากที่ทำพิธีพราหมณ์ หรือพิธีที่จัดขึ้นตามประเพณีเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านใหม่ ควรทำพิธีทางพุทธศาสนาร่วมด้วย (การทำพิธีพุทธก่อนพิธีพราหมณ์ หรือพิธีพราหมณ์ก่อนพิธีพุทธ ขึ้นกับความสะดวกของเจ้าภาพ แต่โดยหลักมักจะทำหลังพิธีพราหมณ์) โดยนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วถวายภัตตาหาร/ เลี้ยงพระ หรือมีการตักบาตรด้วยก็ได้ ตามกำลังศรัทธา

ก่อนถึงวันงาน : เจ้าภาพต้องนิมนต์พระสงฆ์ล่วงหน้า อย่างน้อย 3-7 วัน โดยจะใช้จำนวนคี่ คือ 5 รูป, 7 รูป, 9 รูป ขึ้นกับกำลังศรัทธา ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับพระสงฆ์ ก็สามารถยืมของที่วัดมาใช้ได้ โดยไปเบิกมาก่อนพิธีสัก 1-2 วัน

ก่อนถึงวันงาน 1 วัน : เจ้าภาพควรโยงด้ายสายสิญจน์รอบบ้าน สายสิญจน์ที่ใช้ ควรใช้สายสิญจน์ที่จับเก้าเส้น เพื่อป้องกันสรรพอุปัทวันตรายมิให้มาทำลายพิธีมงคล วิธีวางสายสิญจน์ให้ตั้งต้นรอบองค์พระพุทธบูชาที่จัดตั้งไว้โดยโยงออกไปจากมุมห้อง เวียนไปทางขวาออกไปรอบบ้าน 1 รอบ แล้วจึงวนเข้าสู่บ้านตรงที่ตั้งพระพุทธรูป วนรอบบาตรน้ำมนต์ สายสิญจน์ที่เหลือ วางไว้ข้างบาตรน้ำมนต์บนพานเล็กๆ เมื่อพระสงฆ์มาถึงเข้าที่และเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ท่านจะโยงกลุ่มสายสิญจน์ไปจากพระสงฆ์อาวุโสพรรษารูปแรกจนถึงรูปสุดท้าย การตั้งบาตรน้ำมนต์ ให้ใส่น้ำสะอาดตามสมควร แล้วตั้งหน้าโต๊ะหมู่บูชาและพันด้วยสายสิญจน์ ช่วงทำพิธี พระสงฆ์ผู้อาวุโสจะใช้เทียนสำหรับทำน้ำมนต์ หยดน้ำตาเทียนลงไปในบาตรน้ำมนต์

เมื่อถึงวันงาน : เจ้าภาพจะต้องจัดสถานที่ให้เรียบร้อย โดยตั้งพระพุทธรูปหันหน้าพระไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ บนโต๊ะหมู่บูชา พร้อมด้วยเครื่องบูชาที่จำเป็น คือ แจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป เมื่อตั้งพระพุทธรูปเสร็จแล้วก็จัดอาสนะสงฆ์สำหรับพระสงฆ์ที่นิมนต์มา โดยจัดปูนับจากซ้ายมือของโต๊ะพระพุทธรูปเรียงซ้ายยาว มีกระโถน แก้วน้ำหรือพานหมากพลู พร้อมกับเตรียมของถวายพระ เช่น เครื่อง สังฆทาน จตุปัจจัย (เงินใส่ซอง) และดอกไม้ธูปเทียนไว้ให้พร้อม

ขั้นตอนพิธีสงฆ์ วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่

1. เมื่อพระสงฆ์มาถึงบ้านงาน (เจ้าภาพควรจัดคนไปรับ) ให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะที่ได้จัดเตรียมไว้

2. เมื่อพระสงฆ์พักสักครู่แล้ว เจ้าภาพกราบสามครั้งที่โต๊ะหมู่บูชา จากนั้นให้จุดเทียน (ซ้ายไปขวา) แล้วจึงจุดธูป เมื่อจุดธูปเสร็จแล้วให้กราบอีกสามครั้ง

3. เจ้าภาพกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ดังนี้
อิมินาสักกาเรนะ ตังพุทธังอภิปูชะยามะ
อิมินาสักกาเรนะ ตังธัมมังอภิปูชะยามะ
อิมินาสักกาเรนะ ตังสังฆังอภิปูชะยามะ
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

4. เจ้าภาพอาราธนาศีลห้า ดังนี้
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

5. พระจะหยิบตาลปัตร แล้ว กล่าว “นะโมตัสสะฯ” สามจบ ให้เจ้าภาพ กล่าวนะโมตัสสะฯ ตามพระ จนครบสามจบ แล้วพระจะให้ศีลทีละข้อ ให้เรากล่าวตาม

6. เมื่อพระให้ศีลเสร็จแล้วให้เจ้าภาพกล่าวคำอาราธนาพระปริตร ดังนี้
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะทุกขะ วินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะภะยะ วินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา สัพพะโรคะ วินาสายะ ปริตตัง พรูถะ มังคะลัง

7. พระจะสวดพระปริตร และเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดถึงบท “ อะเสวะนา จะพาลานัง ” ให้เจ้าภาพหรือประธานที่นั่งอยู่ใกล้ๆ บาตรน้ำมนต์ จุดเทียนที่บาตรน้ำมนต์ แล้วถวายเทียนพระ และเมื่อพระสงฆ์สวดถึงบท “พาหุง” ให้ตักบาตร (กรณีที่จัดให้มีการตักบาตร)

8.เมื่อพระสวดมนต์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การถวายเพลพระ เจ้าภาพต้องจัดสำรับ 1 ชุดเพื่อถวายข้าวพระพุทธ ก่อนที่จะถวายเพลพระให้นำสำรับที่จัดไว้ วางหน้าที่บูชาพระแล้วกล่าวคำถวายข้าวพระพุทธดังนี้
อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนานัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ

9.เมื่อเจ้าภาพถวายข้าวพระพุทธแล้ว ลำดับต่อไปคือการถวายภัตตาหาร ให้เจ้าภาพกล่าวดังนี้
อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

แล้วให้เจ้าภาพกล่าวเป็นภาษาไทยดังนี้ “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอ-น้อมถวายซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวาร ทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารกับของที่เป็นบริวารทั้งหลาย เหล่านี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ ” คณะสงฆ์จะกล่าวพร้อมกันว่า “สาธุ” ต่อจากนั้นประเคนอาหารให้พระ

10. เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารเสร็จแล้ว จะกลับมานั่งประจำที่เดิม แล้วให้กรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์ที่เป็นหัวหน้าเริ่มว่า “ยะถา วาริวะหา ปูรา …” ฆราวาสก็เริ่มกรวดน้ำ เวลากรวดน้ำ อย่าเอามือหรือนิ้วมือ รองน้ำที่เทออกจากขวดหรือที่กรวด ดูไม่เหมาะสม และผู้กรวดน้ำพึงสำรวมจิตอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ที่ตนประสงค์จะอุทิศ เมื่อพระสวดถึง “ สัพพีตีโย วิวัชชันตุ……” ให้ประนมมือรับพรพระ ระหว่างนี้ พระจะประพรมน้ำมนต์ ให้กับเจ้าภาพ ญาติพี่น้องและแขกที่มาร่วมงานหลังจากเสร็จพิธีแล้วให้นำน้ำที่กรวดไปเทที่โคนต้นไม้นอกบ้าน
11. เจ้าภาพนิมนต์พระเจิมหน้าบ้านและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในห้องหรือจุดสำคัญของบ้าน

12. เมื่อพิธีพระเสร็จแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารญาติมิตรสหายและแขกที่เชิญมาเป็นเกียรติในงาน บางเจ้าภาพอาจจัดมหรสพให้ชมในช่วงรับประทานอาหาร เพื่อให้งานครึกครื้นสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจ

ชมคลิป พิธีพุทธ งานบุญขึ้นบ้านใหม่

เรียบเรียงจาก
1. ประสบการณ์ทำบุญขึ้นบ้านใหม่
2. http://www.amulet2u.com/board/q_view.php?q_id=28088



Leave a Comment