เสียงกู่จากครูใหญ่ ยอดชายนักพัฒนา หนังสั้นบันดาลใจผู้บริหารโรงเรียน [ผอ.-รอง ผอ.]

เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของครูใหญ่ผู้หนึ่ง  ซึ่งได้อุทิศตนไปทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนในโรงเรียน ณ ชนบทแห่งหนึ่ง ท่ามกลางขุนเขาใกล้ชายแดนเกาหลีเหนือ  ซึ่งห่างไกลความเจริญ โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีครูใหญ่  ครูใหญ่นักพัฒนาท่านนี้จึงได้รับอาสาไปสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ ข้าราชการหรือนักพัฒนานั้นต้องเป็นผู้ทำงานด้วยความเสียสละ  ไม่เรียกร้องความดี ความชอบ หรือผลประโยชน์ไดๆเป็นพิเศษตอบแทน เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นนักฉวยโอกาส  

school-director-voice
ครูใหญ่เดินทางโดยรถประจำทางคันหนึ่ง  มาลงยังปากทางเข้าหมู่บ้าน  แล้วต้องเดินข้ามเขาอีก  6  กิโลเมตร  ท่านเป็นนักทำงาน นักพัฒนาไม่รอความช่วยเหลือจากผู้อื่น  ท่านลงจากรถแล้วไม่รอให้ใครมารับท่านแบกของแล้วเดินไปทันที  ทางโรงเรียนได้ส่งชายผู้หนึ่งมาคอยรับครูใหญ่  แต่เมื่อชายผู้นี้มาพบครูใหญ่ในสภาพหอบสิ่งของรุงรัง  จึงไม่เชื่อว่าเป็นครูใหญ่จริงเพราะไม่มีท่าทางเป็นครูใหญ่เลย  และเมื่อครูใหญ่แนะนำตัวเอง  เขาก็มองตั้งแต่หัวถึงเท้าเพื่อความแน่ใจ  ปรากฏว่าครูใหญ่ใส่รองเท้าขาด  คนเราวัดกันด้วยเครื่องแต่งกายภายนอก  เห็นใส่รองเท้าขาดเลยไม่ศรัทธา เมื่อไม่ศรัทธาจึงไม่แบกของช่วยครูใหญ่  ปล่อยให้แบกไปเอง  อันนี้จะเป็นบทเรียนบทแรกสำหรับนักพัฒนา  ถ้าสร้างศรัทธาไม่สำเร็จ การพัฒนาก็ล้มเหลว  ผู้นำการพัฒนานั้นจะต้องเป็นคนที่มีวาทศิลป์ในการพูดจูงใจ  เดินคุยกันไปพักหนึ่งครูใหญ่ก็ใช้วาทศิลป์จูงใจได้สำเร็จ ชายหนุ่มจึงได้แบกของช่วย

สภาพชาวบ้านอยู่กันอย่างอดอยาก  ยากจน  เพราะอยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว  อยู่ตัวใครตัวมัน  โดยไม่มีความหวังหรือจุดหมายในชีวิตเลย  ครูใหญ่เดินผ่านหมู่บ้านเข้าสู่โรงเรียน  ชาวบ้านก็ยืนมองอย่างเฉยเมยไม่สนใจครูใหญ่  ครูใหญ่เองก็ทำเป็นไม่สนใจชาวบ้านเหมือนกัน ทั้งที่ความสำเร็จในการพัฒนาอยู่ที่ความร่วมมือของชาวบ้าน  เมื่อถึงโรงเรียนครูน้อยสองคนสามีภรรยาออกมาต้อนรับและเชิญครูใหญ่เข้าไปสำรวจดูภายในโรงเรียน  โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเดียวของหมู่บ้านมีอยู่สองห้องเรียน  ครูใหญ่ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง  15 นาทีก็เดินสำรวจทั่วโรงเรียน  เมื่อได้เห็นสภาพที่แท้จริงของโรงเรียนแล้ว  ก็มานั่งวางแผนทำงานอยู่ที่ริมอ่างเก็บน้ำ  ก่อนจะลงมือทำงานก็ต้องสร้างกำลังใจในการทำงานเสียก่อน  ครูใหญ่มีวิธีสร้างกำลังใจด้วยการหวนไปคิดถึงชีวิตของครูใหญ่  เมื่อสมัยตอนเป็นเด็ก 

ครูใหญ่กำพร้าพ่อมาตั้งแต่เด็กอยู่กับแม่เพียงสองคนมีฐานะยากจน  ต้องทำงานหนักกว่าจะได้เรียนหนังสือด้วยความยากลำบาก ความลำบากในวัยเด็กนี่แหละที่หล่อหลอมให้ครูใหญ่เป็นคนเข้มแข็งและยอมอุทิศชีวิตกับการพัฒนาชุมชน  การทำงานเพื่อพัฒนาสังคมก็คือการทำงานให้กับคนจำนวนมากซึ่งยังมีความคิดเห็นแตกต่างกัน  ให้มีการประสานความคิด  ประสานจิตใจ  และการประสานอีกวิธีหนึ่งก็คือการประชุม  ครูใหญ่จึงเริ่มงานด้วยการเรียกประชุมครูทั้งโรงเรียนและเมื่อครูมาประชุมกันแล้วครูใหญ่ก็เสนอที่ประชุมว่าให้คิดหาคำขวัญ  เพื่อที่จะปลุกเร้าจิตใจให้ชาวบ้านตื่นตัวขึ้นร่วมมือกันพัฒนา  คำขวัญนี้ต้องการเพียงคำขวัญเดียว  แต่ทำให้สำเร็จ  มิใช่ว่ามีคำขวัญมากมายแต่ไม่ได้ทำเลย  ในที่สุดก็ใช้คำขวัญว่า “ การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต” หลังจากได้คำขวัญแล้วครูและนักเรียนช่วยกันเขียนคำขวัญใส่กระดาษแจกให้นักเรียนไปติดทั้งในโรงเรียนและตามบ้านของนักเรียนทุกๆคน  คำขวัญนี้เป็นประหนึ่งคำมั่นสัญญาที่ครูใหญ่ประกาศกับชาวบ้านว่าถ้าร่วมมือกันทำงานให้หนักแล้วจะได้พบดอกไม้ของชีวิตที่สวยงามครูใหญ่พัฒนาทุกอย่างแม้แต่ระฆังก็ทาสีใหม่  เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเด็กซึ่งก็ได้ผลดี  จากนั้นครูใหญ่ก็หาจุดเริ่มต้นที่จะดึงชาวบ้านเข้ามาร่วมมือกันพัฒนาโรงเรียน

และเช้าวันหนึ่งขณะนั้นที่ครูใหญ่ยืนคุมนักเรียนออกกำลังกายก่อนเข้าห้องเรียนอยู่นั้น  ครูใหญ่ก็พบจุดเริ่มต้น  โดยสังเกตเห็นนักเรียนรุ่นโตของหมู่บ้านต้องเดินทางไปโรงเรียนที่อื่นอย่างลำบาก  จึงคิดจะสร้างโรงเรียนแห่งนี้ให้เด็กเหล่านี้สามารถเรียนได้อย่างสะดวกสบาย  จึงเดินทางเข้าไปในเมืองและพบผู้บริหารการศึกษาโรงเรียนแห่งนั้นขอให้ส่งเด็กเหล่านี้กลับไปเรียนที่โรงเรียนของท่าน  โดยท่านจะใช้นโยบายพึ่งตนเองสร้างโรงเรียนขึ้นมาโดยไม่รบกวนเงินงบประมาณของราชการเลย  ทางราชการก็ไม่ขัดข้องจัดการส่งเด็กนักเรียนไปให้และเมื่อได้รับเด็กนักเรียนมาแล้วครูใหญ่ก็จัดให้รุ่นน้องทำพิธีต้อนรับรุ่นพี่  เมื่อมีนักเรียนเพิ่มขึ้นครูน้อยก็ต้องทำงานหนักขึ้น  แต่ครูน้อยได้รับพัฒนาจิตใจจากครูใหญ่อย่างดีแล้วก็ไม่บ่นว่าหาเรื่องให้ทำงานหนัก  โดยได้เงินเดือนเท่าเดิม ห้องเรียนไม่พอเรียนก็ต้องเรียนตามใต้ร่มไม้ต้นไม้  ตามริมลำธาร  และเมื่อฝนตกก็อาศัยคอกสัตว์ของชาวบ้านเป็นที่เรียน  ครูมีความตั้งใจสอน นักเรียนก็มีความกระหายอยากเรียนเพราะฉะนั้นเรียนที่ไหนก็เรียนได้  ไม่ต้องรอให้สร้างโรงเรียนเสร็จเสียก่อนเพราะเสียเวลา

จากนั้นครูใหญ่ก็ออกสำรวจหาสถานที่สร้างโรงเรียนหลังใหม่  และเมื่อเห็นที่ถูกใจก็ลงมือเก็บก้อนหินมาวางทับกันเพื่อปรับพื้นที่ในการสร้างเป็นโรงเรียนทันที  ครูใหญ่เชื่อว่าชาวบ้านที่เห็นแก่ตัวมานานนั้นยังไม่สามารถใช้คำพูดจูงใจได้ต้องอาศัยการทำงานหนักเป็นตัวอย่างจูงใจ  แล้วในตอนกลางคืนชาวบ้านว่างจากการทำงานครูใหญ่ก็เชิญมาร่วมประชุมและชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันสร้างโรงเรียนให้ลูกหลานของตัวเองเรียนอย่างสะดวกสบาย  ชาวบ้านที่ยังไม่พัฒนา จิตใจจะคับแคบเห็นแก่ตัว  เห็นว่าการสร้างโรงเรียนมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล  ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน  ถ้ารัฐบาลไม่มาสร้างให้เขาก็ไม่ให้ลูกหลานของเขาเรียน  เพราะพวกเขาอยู่ได้โดยไม่ต้องเรียน  ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ลูกหลานก็อยู่ได้เหมือนกัน  ครูใหญ่ไม่ต้องมาเดือดร้อนกับเขาด้วย  ไม่ว่าครูใหญ่จะชี้แจงอย่างไรเขาก็ยืนยันไม่ร่วมมือนั่นเอง  ครูใหญ่ไม่โกรธไม่ท้อใจ  ลงมือสร้างโรงเรียนคนเดียวต่อไป  ตั้งใจใช้การทำงานนี้แหละจูงใจชาวบ้านมาร่วมมือกับท่านให้จงได้  โดยท่านถือหลักทำงานอยู่ว่า พึ่งตนเองเสียก่อนแล้วสวรรค์จะช่วย  

แต่ก่อนสวรรค์จะช่วยครูใหญ่ก็พบอุปสรรคที่สำคัญ  ภรรยาครูใหญ่ที่อยู่ในเมืองเดินทางมาตรวจเยี่ยมสภาพความเป็นอยู่ของครูใหญ่ผู้เป็นสามี  เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือครูใหญ่ก็มีภรรยาครูใหญ่  เมื่อครูใหญ่รายงานให้ภรรยาทราบว่าชาวบ้านไม่ร่วมมือกับท่านในการสร้างโรงเรียนเธอก็เลยอบรมครูใหญ่ว่า “เรื่องอะไรจะไปเห็นแก่ลูกหลานของชาวบ้านมันลูกหลานของเราเมื่อไร?  พ่อแม่ของเขาอยากให้มันโง่ก็ปล่อยให้มันโง่กันต่อไปก็แล้วกัน   บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว คนอื่นเห็นแก่ตัวได้  เราก็เห็นแก่ตัวบ้างซิ   กลับไปอยู่ในเมืองหาความสุขตามผัวหนุ่มเมียสาวของเราดีกว่า”  

เมื่อเมียครูใหญ่ได้เห็นมือของครูใหญ่แล้วเธอก็ร้องไห้   ที่ได้พบว่ามือครูใหญ่ทั้งด้านและถลอกปอกเปิกเกือบไม่ใช่มือคน แต่ครูใหญ่เป็นนักพัฒนาที่มีอุดมการณ์มั่นคง  จึงไม่ตามใจภรรยาและชี้แจงให้ทราบว่าการที่บ้านเมืองของเราเสื่อมโทรมทุกวันนี้ก็เพราะคนเห็นแก่ตัว  เราเป็นครูเราเป็นพ่อเป็นแม่คน  เราเป็นผู้ใหญ่ในสังคมนั้น   ถ้าไม่ลงมือทำให้เป็นตัวอย่างแล้วจะให้ใครมาเป็นแบบอย่างเขา  ก็ขอให้ภรรยากลับไปอยู่ในเมืองดูแลครอบครัวให้ดี  ส่วนครูใหญ่จะลงมือทำงานตามหน้าที่ต่อไป 

การทำงานของครูใหญ่เริ่มได้รับความสนใจการจากนักเรียนหญิงคนหนึ่งเอามันมาให้เป็นอาหารกลางวัน  พอดีเธอได้เห็นครูใหญ่เป็นลมตกเขาก็วิ่งลงไปช่วย  เด็กและครูน้อยพาครูใหญ่ไปนอนพัก   แม้แต่นอนเจ็บอยู่ครูใหญ่ยังพยามจะลุกขึ้นไปทำงานต่อ  แต่ก็ไม่ไหว  ก็ขอให้ครูน้อยกลับไปพักผ่อนเพื่อเตรียมการสอนเด็กในวันต่อไป  ด้วยความรักและห่วงนักเรียนเหมือนลูกหลานของตนเองจริงๆ   นอนหลับก็ยังฝันไปว่านักเรียนเล่นฟุตบอลแล้วตกเขา  ครูใหญ่ถึงกับสะดุ้งตื่นทันที  เมื่ออาการป่วยทุเราลงก็รีบออกมาทำงานต่อ  แต่ก็ต้องยืนตะลึงเมื่อได้เห็นภาพครูน้อยและเด็กนักเรียนพร้อมใจทำงานต่อจากครูใหญ่ที่ทำงานค้างไว้โดยครูใหญ่ไม่ได้ออกปากสั่งการ    เป็นอันว่าสวรรค์ซึ่งที่จริงก็คือครูน้อยกับเด็กนักเรียนที่อยู่ใกล้ตัวครูใหญ่นั่นเอง ได้ลงมือช่วยครูใหญ่แล้ว  พลังของนักเรียนนี้เหมือนพลังมดช่วยกันทำงานอย่างขยันขันแข็ง  เด็กก็ภูมิใจกันมากที่มีส่วนช่วยกันสร้างโรงเรียนดีกว่าไปวิ่งเล่นซุกชนให้เสียเวลา  เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายเห็นลูกหลานของตัวเองทำงานกัน   ก็อดดูไม่ได้พร้อมใจกันมาช่วยครูใหญ่กันทั้งหมู่บ้าน  โดยครูใหญ่ไม่ได้ออกปากร้องขออีกเหมือนกัน  แปลอันว่าสวรรค์ซึ่งคราวนี้ก็คือ  ชาวบ้านของหมู่บ้านนั้นเองได้ช่วยครูใหญ่แล้ว       เมื่อได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อจะได้สร้างโรงเรียนให้ลูกหลานเช่นนี้จิตใจก็พัฒนาขึ้นเห็นคุณค่าของความสามัคคี ความเสียสละ เขาจึงพากันทำงานอย่างขยันขันแข็งไม่มีการเกี่ยงงอนถึงตอนกลางคืนก็ไม่ยอมหยุดได้จุดครบเพลิงทำงานต่อไป ตกลงใจร่วมกันว่าเมื่อสร้างโรงเรียนให้ลูกหลานเสร็จแล้วจะได้ร่วมมือกันสร้างสาธารณประโยชน์อย่างอื่นอันจะทำให้ชีวิตของเราของลูกหลานของเขาดียิ่งขึ้น  โดยไม่ต้องรองบประมาณ เงินคลังจากทางราชการ  เด็กและชาวบ้านร่วมกันทำงานอยู่ไม่นานงานก็เสร็จ  ครูใหญ่ก็เรียกประชุมเด็ก ครู และชาวบ้านเพื่อกล่าวยกย่องเป็นกำลังใจว่าการทำงานสำเร็จเรียบร้อยเช่นนี้ก็เพราะความสามัคคีของเราทุกคนและได้พร้อมใจกันตั้งชื่อโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “โรงเรียนแห่งแสงเพลิง” ครูใหญ่ตกลงแบ่งงานให้ชาวบ้านดังนี้  การสร้างและปรับปรุงโรงเรียนขอให้เป็นหน้าที่ของครูและนักเรียนที่ช่วยกันสร้าง   ส่วนชาวบ้านนั้นขอให้ร่วมมือขยันทำงานและหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อจะได้บริจาคบางส่วนไปซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างเพิ่มเติมให้โรงเรียน  ครูใหญ่แนะนำชาวบ้านว่าโรงเรียนที่ยากจนและเพิ่งเริ่มต้นพัฒนาอย่างโรงเรียนเรานี้ความสวยงามไม่จำเป็น    ต้องยึดหลักพึ่งตนเองและประหยัดเป็นหลัก  โรงเรียนของเรานั้นจะต้องไม่ให้คนอื่นมาประณามว่าเป็นโรงเรียนกระจอก นักเรียนมีโอกาสสัมผัสกับการก่อสร้างโรงเรียนก็เป็นการฝึกงานไปในตัว ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำดินบล็อกเพื่อใช้ทำเป็นผนังโรงเรียน  เมื่อนักเรียนกลุ่มนี้ได้จบชั้นประถมแล้วจะสามารถสร้างบ้านของตนเองด้วยดินได้  ชาวบ้านก็รวบรวมเงินไปซื้อกระเบื้องมุ่งหลังคาให้โรงเรียน ทีนี้ระฆังใบเก่าแต่ตัวโรงเรียนใหม่แล้ว  

จากนั้น 4  เดือนต่อมาโรงเรียนก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ครูและนักเรียนก็ใช้โรงเรียนที่ช่วยกันสร้างด้วยความภาคภูมิใจด้านครูก็สละเงินไปซื้อเครื่องดนตรีให้กับนักเรียนได้เล่นกัน  การได้เล่นดนตรีเช่นนี้ทำให้นักเรียนตื่นเต้นและสนุกสนานรักโรงเรียนมากขึ้นเงินมีน้อยซื้ออุปกรณ์ได้ไม่มากก็หาก้อนอิฐก้อนหินมาเคาะเป็นจังหวะประกอบไปก่อน  

แม้โรงเรียนจะสร้างเสร็จแล้วแต่ครูใหญ่ก็ทำงานหนักเพื่อพัฒนาโรงเรียนต่อไป  เพราะงานพัฒนาหรืองานสร้างความเจริญทำได้ตลอดชีวิตไม่มีวันหยุด  ครูใหญ่บันทึกการทำงานไว้ทุกขั้นตอนและขอเช่าที่ดินบนเขาใหญ่จากทางราชการเพื่อจะปลูกไม้สนหอม  เพื่อหารายได้ให้กับโรงเรียน  บันทึกของครูใหญ่ทราบไปถึงหนังสือพิมพ์  หนังสือพิมพ์ที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็ช่วยกันตีพิมพ์สนับสนุนออกไปจนทำให้รัฐบาลทราบว่า บัดนี้ครูใหญ่สามารถพัฒนาจิตใจของชาวบ้านให้ขยัน  ให้พึ่งตนเองให้ร่วมมือกันทำงานโดยสร้างโรงเรียนสำเร็จแล้ว  เมื่อทางราชการดูเรื่องก็เลยสร้างโรงเรียนมาใหม่ใหญ่กว่าเดิมเพิ่มครูอีก  4   คน พอกับจำนวนของนักเรียน   เป็นอันว่าสวรรค์ชั้นสูงหรือรัฐบาลได้ช่วยครูใหญ่แล้ว ต่อไปครูใหญ่ก็ได้วางแผนพัฒนารายได้ของชาวบ้านเพื่อที่จะช่วยให้นักเรียนมีความอยู่ดีกันขึ้น  การเรียนก็ได้ผลดีตามไปด้วย  โดยครูใหญ่สังเกตเห็นว่าทัศนาจรขึ้นมาเที่ยวบ่อน้ำแร่ในหมู่บ้านขากลับจะซื้อไข่ไก่กลับไปด้วย  นักพัฒนาจรเหล่านี้คือตลาดที่เดินมาถึงหมู่บ้านไม่ต้องไปหาให้ยาก  ไข่ไก่เหล่านี้ถึงขายไม่หมดนักเรียนก็ได้นำไปกินเพื่อเสริมสร้างสุขภาพไปในตัว  ครูใหญ่จึงสละเงิน  300 บาทไปซื้อลูกไก่มาเลี้ยง  200 ตัว  การเลี้ยงไก่เพื่อเพิ่มรายได้นี้เป็นความคิดริเริ่มของครูใหญ่เอง ไม่ใช่เลี้ยงตามคำสั่ง   ถ้าเลี้ยงตามคำสั่งไม่นานก็เลิก  ต่อมาเมื่อทางราชการทราบว่าครูใหญ่เลี้ยงไก่แล้วก็ส่งผู้ชำนาญมาช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้โรงเรียนมีไก่มากขึ้น   5 เดือนต่อมาไก่ของโรงเรียนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  เพื่อให้การเลี้ยงไก่แพร่หลายไปทั้งหมู่บ้าน  ครูใหญ่ก็ใช้อุบายแจกจ่ายรางวัลให้แก่นักเรียนที่ขยันและเรียนดีไปเลี้ยงที่บ้านแล้วครูใหญ่จะตามไปตรวจให้คะแนน  นักเรียนคนไหนเลี้ยงไก่ได้มากคนนั้นก็ได้คะแนนมาก  และเพื่อให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงไก่  ครูใหญ่จึงจัดพิธีแจกจ่ายไก่ขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่   นักเรียนรับไก่ไปตัวหนึ่งครูใหญ่ก็ตบหัวคนละทีสองที  นักเรียนอุ้มไก่เหล่านี้คือทหารกองหน้า  เพื่อทำสงครามต่อสู้ขจัดความยากจนออกจากหมู่บ้านออกไป  โดยใช้ไก่เป็นอาวุธนั้นเอง  ด้วยวิธีการนี้เองทำให้ชาวบ้านจึงเลี้ยงไก่ตามครูใหญ่ทั้งหมู่บ้าน  เพราะลูกอยากจะได้คะแนนมากจึงไปบังคับให้พ่อแม่ช่วยเลี้ยง  5 เดือนต่อมาหมู่บ้านนี้มีไก่เพิ่มมากขึ้นถึง 400 ตัว  ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นเห็นหมู่บ้านนี้มีไก่จำนวนเพิ่มขึ้นเห็นไก่ร้องทั้งวันจึงได้ตั้งชื่อบ้านให้ใหม่ว่า “หมู่บ้านไก่”  และครูใหญ่ก็ทำสวนครัวเป็นตัวอย่างเพื่อช่วยชาวบ้านมีผักกินในฤดูหนาว  โดยใช้พลาสติกทำเป็นหลังคาและขี้ไก่เป็นปุ๋ย สำหรับการปลูกไม้สนหอมบนเขาครูใหญ่ก็ให้นักเรียนช่วยกันเพาะกล้าไม้สนหอมสนับสนุนจากกรมป่าไม้เกาหลีจำนวน  38,000 ต้น   เมื่อต้นกล้าโตพอดีแล้วครูใหญ่ก็นำนักเรียนขึ้นปลูกบนเขา  นักเรียนกับต้นไม้ที่เขาปลูกจะเติบโตไปพร้อมๆ กัน  นักเรียนจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ  เพราะเขาจะช่วยกันบำรุงรักษาและค่อยระวังป้องกันมิให้คนเห็นแก่ตัวมาลักตัดไม้ทำลายป่าได้เป็นอันขาด  จากนั้นครูใหญ่ก็นำเอาการเลี้ยงผึ้งเข้ามาสู่หมู่บ้านโดยการขายไก่ของโรงเรียนไปครึ่งหนึ่งนำเงินไปลงทุนซื้อผึ้งมาเลี้ยง  ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ที่ใช้คะแนนเข้ามาล่อไปบังคับให้พ่อแม่  ครูใหญ่ก็สามารถทำให้ชาวบ้านต้องเลี้ยงผึ้งตามครูใหญ่ทั้งหมู่บ้าน  ชาวบ้านหมู่บ้านอื่นเห็นหมู่บ้านนี้มีผึ้งมากก็เลยเปลี่ยนชื่อใหม่ขึ้นมาว่า “หมู่บ้านผึ้ง”  เมื่อเห็นชาวบ้านเลี้ยงผึ้งได้สำเร็จแล้ว  ครูใหญ่ก็ขายผึ้งของโรงเรียนไปครึ่งหนึ่ง   เอาเงินไปซื้อวัวมาเลี้ยง 3 ตัว ชาวบ้านที่มีความศรัทธาในตัวครูใหญ่อย่างเต็มที่แล้ว  ก็คอยดูว่าครูใหญ่จะทำอะไรต่ออีก  พอเห็นครูใหญ่ซื้อวัวมาเลี้ยงชาวบ้านก็รีบไปซื้อวัวมาเลี้ยงบ้างไม่นานหมู่บ้านก็มีวัวนับร้อยตัวแล้วหมู่บ้านนี้ก็กลายเป็น “หมู่บ้านวัว”   นักเรียนก็เรียนวิธีการเลี้ยงวัวไปด้วย  การเรียนเช่นนี้เป็นการเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยตรงและเห็นผลเร็วเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะทิ้งถิ่น

บัดนี้ครูใหญ่เดินไปไหนชาวบ้านก็โค้งคำนับด้วยศรัทธาเพราะคำขวัญของครูใหญ่ที่ให้ไว้กับชาวบ้านที่มาถึงใหม่ๆ ว่า “การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต”    ก็ปรากฏให้ชาวบ้านเห็นจริงแล้ว วัวของโรงเรียนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน    ต่อมาครูใหญ่ก็ขายวัวของโรงเรียนไปส่วนหนึ่งแล้วนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ในการเรียนการสอน  อุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์และการกีฬาให้นักเรียนได้เรียนได้เล่นกันอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องรบรวนเงินงบประมาณจากทางราชการ 

ในฐานะที่เป็นโรงเรียนพึ่งตนเองได้สำเร็จ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่โรงเรียนอื่นได้ทำตาม  ทางราชการก็ได้ส่งเรือยนต์ให้เป็นรางวัลโรงเรียนใช้สำหรับรับส่งนักเรียน  ในระหว่างเดินทางครูจะช่วยกันสอนร้องเพลงที่มีคุณค่าสร้างความเป็นนักพัฒนาและห้ามมิให้นักเรียนไปสนใจเพลงน้ำเน่าวันเวลาผ่านไปความสำเร็จของครูใหญ่ก็เพิ่มมากขึ้น  จนกระทั่งถึงสิ้นปีการศึกษา ครูใหญ่ทำพิธีมอบใบประกาศนียบัตรให้เด็กนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในงานนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็พร้อมใจกันมาร่วมเพื่อเป็นเกียรติแก่ลูกหลานเดี๋ยวนี้ฐานะดูดีแล้วก็เลยแต่งตัวมาร่วมงานนี้อย่างสวยงาม   นอกจากจะแจกใบประกาศนียบัตรแล้วก็คืนเงินที่นักเรียนสะสมไว้จากการทำงานให้เป็นทุนในการดำเนินชีวิตถ้าไม่เรียนต่อ

เพียง 4 ปี ต้นไม้ที่ช่วยกันปลูกก็โตขึ้นถ้าตัดขายในตอนนี้เพียงต้นละ  100  บาท  โรงเรียนก็มีเงินเกือบ  4,000,000 บาท ความสำเร็จของครูใหญ่ทราบไปถึงประธานาธิบดี ซึ่งได้ใช้นโยบายการบริหารประเทศด้วยการยกคนดีตีคนชั่ว  ก็ส่งเรือยนต์มารับครูใหญ่ไปร่วมพิธีรับเหรียญตรายกย่องขึ้นร่วมพัฒนาและสามารถขจัดความยากจน  ความเจ็บ  ความโง่ ออกไปจากหมู่บ้านได้สำเร็จนี้ และยังได้มอบเงินให้อีก  80,000 บาท  ครูใหญ่ไม่เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและนำไปสมทบกับชาวบ้านเพื่อสร้างศาลาประชาคมขึ้นมา และในขณะนี้ก็ได้ใช้ทำพิธีแต่งงานให้กับลูกศิษย์ของครูใหญ่นั่นเอง

ด้วยคุณความดีที่ทางโรงเรียนได้ทำให้ชาวบ้าน  ชาวบ้านได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองเป็นเกียรติในงานนี้  มีการแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคีเล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เล่นแล้วต้องรักกันมิใช่เล่นแล้วยกพวกตีกัน  การแข่งขันนั้นถ้าพ่อแม่กลัวลูกหลานของตัวเองจะแพ้ก็สามารถลงไปช่วยก็ได้   การแข่งขันวิ่งผลัดก็อนุญาตให้พี่ชายพี่สาวและพ่อแม่ลงไปช่วยวิ่งได้      บัดนี้ภรรยาครูใหญ่ก็ยิ้มรับแล้วว่า  ผลงานของครูใหญ่ทำให้ชาวบ้านรักและศรัทธาเธอด้วยความจริงใจไปด้วยเธอมีความสุขมากและความสุขเช่นนี้ใช้เงินซื้อไม่ได้  นักเรียนแสดงระบำฉลองการเก็บเกี่ยวซึ่งได้ผลดี  ความสนุกสนานที่ได้รับอยู่นี้เกิดจากการที่มีฐานะมั่นคงที่ดีขึ้นไม่ห่วงว่าจะอดอยากอีกต่อไปแล้ว  

หวนคิดไปถึงที่คราว  8 ปีก่อน  ครูใหญ่คนเดียวแท้ๆ หอบของเดินเข้าหมู่บ้านและสอนให้เขารู้จักคุณค่าของการขยันอย่างฉลาดปราศจากอบายมุข  พึ่งตนเองร่วมมือกันทำงาน  เห็นความยากจนของเพื่อนบ้านเป็นหน้าที่ของเราต้องช่วยกันแก้ไข   มีเพื่อนบ้านที่ดี  แล้วก็ไม่ต้องมีรั้วบ้าน  เดี๋ยวนี้ฐานะของเขามีความมั่นคง  แล้วลูกหลานก็มีอนาคตอันแจ่มใส  นั่นคือความเจริญก้าวหน้าของความมั่นคงของประเทศชาติ  ซึ่งพวกเขาได้มีส่วนในการสร้างขึ้นมานั่นเอง

ชมคลิปหนังสั้น เสียงกู่จากครูใหญ่

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/kidkids/2009/09/01/entry-1



Leave a Comment